ความหมาย : สำนวนนี้ใช้สอนคนในเรื่องของ แพ้ ชนะ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร การยอมแพ้อาจจะทำให้เรื่องจบ ปัญหาจบ แต่การไม่ยอมแพ้ ก็มักจะทำให้ต้องสู้รบกันต่อไม่รู้จักหยุด สร้างความเดือดร้อนให้ทั้งสองฝ่ายหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่าง :

ในการรบหรือทำสงครามในสมัยโบราณ การยอมแพ้เป็นเรื่องที่ช่วยให้สงครามสงบลงได้ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร แม้อาจจะต้องสูญเสียบางอย่างไปบ้าง แต่ก็ทำให้ผู้คนไม่ต้องเดือดร้อน เพราะหากไม่ยอมแพ้ต้องรบราฆ่าฟันกันต่อ ซึ่งบางทีก็กินเวลาเป็นปี

กรณีมีปัญหากระทบกระทั่งกัน หากต่างฝ่ายต่างพยายามเอาชนะกัน ย่อมจะสร้างปัญหาตามมา เกิดความเสียหายทั้งสองฝ่าย แต่หากต่างยอมถอย ถือคติ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ก็จะสามารถยุติปัญหาทะเลาะกันได้

บางคนชอบเอาชนะทุกเรื่อง คนแบบนี้แพ้ไม่เป็น แม้จะเป็นเรื่องไร้สาระก็ตาม หากมีคนแบบนี้รอบตัว หรือคบหาคนประเภทนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะคนที่แพ้แล้วพาล คนเหล่านี้ไม่รู้จักคำว่า แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร กรณีมีปัญหากระทบกระทั่งกัน แม้อีกฝ่ายจะยอมแพ้ ก็ใช่จะยอมจบเรื่องราวแต่โดยดี ยังจะพาลหาเรื่องต่อ ต้องเอาให้ตายกันไปข้าง เมื่อคนที่ยอมแพ้ถูกไล่ต้อนไม่ให้มีที่ยืน สุดท้ายก็ต้องกลับมาสู้กันต่อ

เพื่อนแบบนี้หรือคนในครอบครัว คนรอบตัวที่มีลักษณะแบบนี้ อย่าไปเสียเวลาถกเถียงกันเพื่อเอาชนะ เสียเวลาเปล่า เพราะแม้จะเอาชนะได้ แต่อีกฝ่ายก็มักจะเกิดความอาฆาตพยาบาท ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองนั้น ผิด และต้องแก้ไขตัวเอง บางคนแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แต่ความอาฆาตแค้นก็ยังอยู่ คนประเภทนี้ต้องหลีกเลี่ยง อยู่ให้ห่าง