ปกติจะใช้โน้ตบุ๊คทำงาน พักหลังๆ เปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ผลที่เห็นชัดเมื่อสิ้นเดือนก็คือ ค่าไฟเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว การเลือกคอมพิวเตอร์มาใช้งาน หากเลือกไม่เหมาะสม ค่าไฟบานปลายแน่นอน เพราะหลายบ้าน เป็นครอบครัวใหญ่ มีคอมพิวเตอร์คนละเครื่อง ค่าไฟจึงไม่ต้องพูดถึง หากใช้งานคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะกันคนละเครื่อง

 

 

 

 

 

หากเลือกใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับงานหรือความจำเป็นที่ต้องใช้งานจริงๆ แล้วก็จะช่วยได้มากเลยทีเดียว

คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะเหมาะกับงานแบบใด
คอมพิวเตอร์แบบนี้จะให้พลังการประมวลผลที่ดี ทนทาน รองรับงานหนักๆ ได้ดี แต่ต้องแลกกับค่าไฟที่มากกว่าโน้ตบุ๊คไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัวหรือมากกว่า ตรงนี้ผมก็เปรียบเทียบกับการใช้งานจริงๆ ของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเสียค่าไฟมากกว่าแล้ว ยังร้อนกว่าด้วย เพราะเครื่องจะปล่อยความร้อนออกมามากกว่า ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำความเย็นเพิ่มขึ้นอีก
เราไปดูกันว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะควรจะใช้กับงานประเภทใด ตัวอย่างเช่น
1. เล่นเกม โดยเฉพาะเกม 3 มิติ จะต้องการเสป็คเครื่องค่อนข้างสูง ซึ่งตามมาด้วยค่าไฟที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน
2. การทำงานด้านการตัดต่อวิดีโอ ต้องใช้การประมวลผลที่เร็วเช่นกัน จึงต้องการเสป็คเครื่องค่อนข้างดี
3. การสร้างสิ่งพิมพ์ กราฟิค ในขั้นตอนการสร้างไฟล์แบบ PDf เพื่อเตรียมส่งโรงพิมพ์หรือร้านเพลทนั้นจะต้องการการประมวลผลที่ค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะหากเปิดร้านรับทำสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะ ไม่อย่างนั้นอืดเป็นเรือเกลือแน่ กว่าจะแปลงเป็นไฟล์ PDf ได้แต่ละไฟล์ อย่างหนังสือคอมพิวเตอร์ที่เห็นๆ วางขายในท้องตลาด การสร้างไฟล์ PDF เพื่อนำไปทำเพลท ก่อนส่งโรงพิมพ์ บางไฟล์มีขนาดหลาย GB เคยลองสร้างด้วยโน้ตบุ๊ค ใช้เวลาร่วมชั่วโมง ในขณะที่ใช้พีซีแค่สิบกว่านาทีเท่านั้นเอง
4. งานบางอย่างไม่หนัก แต่ต้องจัดการกับบางอย่างปริมาณมากๆ เช่น การเขียนซีดี งานแบบนี้จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เป็นต้น

คอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊ค
โน้ตบุ๊คใช้งานสะดวก ประหยัดไฟ และสร้างความร้อนน้อยกว่าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ แต่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วๆ ไป หลายคนจะมีคอมพิวเตอร์ไว้อย่างน้อยสองเครื่อง คือโน้ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะอย่างละเครื่อง ไว้ใช้งานแยกกัน ตามประเภทของงาน ก็จะช่วยประหยัดค่าไฟได้พอสมควร

การเลือกซื้อโน้ตบุ๊คมาใช้งานนั้น นอกจากเครื่องมือสองยี่ห้อดีๆ ที่นำเข้าจากญี่ปุ่นแล้ว การเลือกเครื่องใหม่ก็ต้องดูรุ่น ดูยี่ห้อเช่นกัน แล้วไปค้นหาข้อมูลใน Google.co.th โดยพิมพ์ชื่อรุ่นและยี่ห้อ เพื่อหาข้อมูลข้อดีข้อเสีย ก่อนจะเลือกมาใช้งานจริง

Sponsored Ads