บทความนี้จะมาแนะนำอุปกรณ์ท่องเที่ยวกางเต็นท์ในงบประมาณ 2000 บาท สำหรับมือใหม่ที่อยากท่องเที่ยวแนวนี้ การมีงบประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ก็เพียงพอในการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ โดยเฉพาะการเที่ยวคนเดียว ตัวอย่าง เช่น เต็นท์ ฟลายชีท เก้าอี้พับ ผ้าปูพื้น เป็นต้น

 

การเที่ยวกางเต็นท์จะไม่ลำบาก หากเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานไปแบบครบๆ สำหรับมือใหม่ที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะชอบแนวนี้จริงไหม หรืออยากจะลองดูก่อน ถ้าไม่ชอบก็จะไม่เสียเงินมากนัก ในงบประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ก็สามารถซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ได้หลายรายการ และยังเก็บไว้ใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย อย่างเปลทหาร ผู้เขียนก็ใช้แทนผ้าห่ม เพราะอยู่หอพัก ไม่มีที่ผูกเปล เตาแก๊สกระป๋องก็ใช้อยู่ทุกวัน จะมีเพียงบางอย่างเท่านั้นที่ไม่ค่อยได้ใช้

 

ตัวอย่างอุปกรณ์กางเต็นท์แบบต่างๆ

ผู้เขียนจะแนะนำอุปกรณ์ธรรมดา ไม่เน้นยี่ห้อที่มีราคาแพง แต่ซื้อมาแล้ว จำเป็นจะต้องปรับแต่ง ให้มีความทนทานมากขึ้น ก็จะใช้งานได้นานเช่นกัน เริ่มกันเลย ตามลำดับดังนี้

 

1. ฟลายชีท เสา เชือกผูกฟลายชีท

ฟลายชีทเป็นเหมือนหลังคาที่ช่วยกันแดด กันฝน การเที่ยวกางเต็นท์จำเป็นต้องมีฟลายชีท เพื่อให้มีที่นั่งส่วนตัว ไม่เช่นนั้นก็ต้องหลบแดดตามต้นไม้ หรือ อาคาร สิ่งก่อสร้าง จะไม่เป็นส่วนตัว อุปกรณ์ตัวนี้จะมีส่วนประกอบ 3 ชิ้นด้วยกัน คือ ผ้าใบฟลายชีท เสา และ เชือกผูกฟลายชีท

เสาสำหรับฟลายชีท

เสาสำหรับฟลายชีทใช้อย่างน้อย 2 ต้น หากเดินทางด้วยรถยนต์ ก็เน้นเสาที่สูงเกิน 2 เมตร ไว้ก่อน เพื่อความโปร่งสบาย หากเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซต์ใช้เสา 2 เมตร จะสะดวก เพราะจะพับเป็น 4 ท่อนๆ 50 เซนติเมตร ก็ไม่ยาวเกินไป เมื่อมัดท้ายรถมอเตอร์ไซค์ ตัวอย่างเสาราคาประมาณ 174 บาท (ยังไม่รวมค่าส่ง)

 

แนะนำให้ซื้อท่อพีวีซีที่มีขนาดใหญ่กว่าเสาฟลายชีท ตัดให้ยาวเท่ากัน นำมาสวมทับอีกที เพื่อให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น กรณีลมแรง หรืออาจจะใช้กับมุมทั้ง 4 ของผ้าฟลายชีท ก็ได้ สามารถหาซื้อได้แถวบ้าน ส่วนใครที่สามารถ DIY ได้ ก็ใช้ท่อพีวีซีมาทำก็ได้ ใช้ 4 ท่อนๆ ละ 50 ซม. มาต่อกัน ใส่ไม้ไว้ข้างในเป็นไส้ให้มีความแข็งแรง

 

ผ้าใบฟลายชีท

ผ้าใบฟลายชีท เลือกขนาดอย่างน้อย 2 x 3 เมตร ผ้าบางราคาถูก การกันน้ำค้าง กันฝน ก็จะได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เจอฝนหนัก ก็ไม่รอด แต่มีข้อดีเมื่อพับ หรือ ม้วนเก็บแล้วจะมีขนาดเล็ก ราคาประมาณ 139 บาท

 

การปรับแต่งฟลายชีทให้แข็งแรง แนะนำให้เย็บเชือกฝากกลางติดกับฟลายชีท ใช้เชือกแบบเชือกผูกรองเท้า และเข็มเย็บผ้าธรรมดาทั่วไปหาได้ตามร้านขายของชำประมาณ 3 บาท แล้วใช้การดึงเชือกแทนดึงหู หรือตาไก่ที่ตัวฟลายชีท วิธีนี้จะช่วยให้ฟลายชีท ใช้งานได้นาน ไม่ขาดง่ายๆ และเมื่อเจอลมแรง ก็จะไม่เลื่อนไปเลื่อนมา

 

การเก็บฟลายชีท ให้เก็บในที่ร่ม ห้ามกางไว้ตลอดเวลา เพราะเจ้าอุปกรณ์ชิ้นนี้ ไม่ได้ถูกออกแบบให้โดนแดดตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะเปื่อยและขาดเร็วมาก การใช้งานฟลายชีทควรใช้เป็นบางครั้ง บางคราวอย่างการไปกางเต็นท์ ก็จะใช้งานได้นานเป็นสิบปีเลยทีเดียว

เชือก สมอบกสำหรับฟลายชีท

เชือกและสมอบกจะต้องใช้ทั้งหมด 6 ชิ้นด้วยกัน เพื่อผูกฟลายชีท 6 จุด ราคาประมาณ 99 บาท แต่แนะนำให้ซื้อไว้สัก 2 ชุด เผื่อลมแรงจำเป็นต้องยึดจุดละ 2 เส้น

 

2. เต็นท์

สำหรับเต็นท์จะเน้นเต็นท์ขนาดเล็กสำหรับ 1-2 คนก็พอ จำเป็นจะต้องมีไว้อย่างน้อย 1 ชุด เผื่อเที่ยวคนเดียว หรือ ถ้าอากาศหนาว ลมแรง นอนเต็นท์เล็กอุ่นกว่า กรณีไปเป็นคู่ ก็ใช้เต้นท์ขนาด 3=4 คน ซึ่งจะนอนได้สบายๆ เต็นท์ขนาด 1-2 คน จริงๆ แล้วเหมาะสำหรับการนอนคนเดียว เพราะแต่ละคนจะมีข้าวของ กระเป๋า ที่ต้องเก็บในเต็นท์

 

กรณีใช้เต็นท์ราคาถูก จำเป็นจะต้องปรับแต่งให้แข็งแรง เริ่มจากเสาเต้นท์ให้ใช้สก็อตเทปไสพันรอบหลายชั้น เพิ่มความแข็งแรง เพราะเต็นท์ราคา ถูกเหล่านี้ ใช้เสาคุณภาพต่ำมาก บางทีกางไม่กี่ครั้งก็ เสาก็แตกหักแล้ว วิธีนี้ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานไปได้นานขึ้น

 

อุปกรณ์เสริมสำหรับเต็นท์ที่ขาดไม่ได้ ก็จะมีพลาสติกแผ่นใหญ่ และคลิปหนีบกระดาษ เอาไว้หนีบผ้าพลาสติกทับเต็นท์อีกที กรณีเจอฝนหนัก น้ำค้างแรง ฟลายชีทและเต็นท์ราคาถูก เอาไม่อยู่ เพราะบางมาก

 

เต็นท์บางแบบจะมีลักษณะเป็นแท่ง แบบนี้ไม่กินพื้นที่มาก และเหมาะสำหรับใช้กับการเตินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์ มัดท้ายรถได้ สะดวก

 

3. แผ่นรองนอนหรือเบาะรองนอน

แผ่นรองนอน อาจจะใช้เสื่อสำหรับเล่นโยคะก็ได้ ม้วนเก็บง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวโดยรถมอเตอร์ไซค์ เพราะพกพาง่ายกว่าเบาะ รองนอนแบบพับ หรืออาจจะใช้เบาะเป่าลมก็ได้ ม้วนเก็บแล้วเหลือขนาดประมาณขวดน้ำดื่มขนาดเล็กเท่านั้นเอง

 

แต่กรณีใช้รถยนต์ ก็อาจจะใช้แผ่นรองนอนแบบพับได้ หนากว่า นอนสบายกว่า หรืออาจจะใช้ที่รองนอน แบบเป่าลม หรือเตียงพับก็ได้ แต่อาจจะไม่ เหมาะสำหรับการเดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์ เพราะมีขนาดใหญ่ ยาว ไม่สะดวกกับการขนย้ายในขณะเดินทาง

 

4. หมอนลม

หมอนแบบนี้ จะมีขนาดเล็ก พกพาง่าย ประหยัดพื้นที่ในกระเป๋า และราคาก็ไม่แพง แต่หากเป็นการเดินทางโดยรถยนต์ ก็อาจจะหาซื้อ หมอนราคาถูกในร้านทุกอย่าง 20 บาท ก็จะมีหมอนยัดนุ่น ใบละประมาณ 20 บาท ก็ได้ประหยัดเงินมากกว่า แต่เดินทางโดยรถมอเตอร์ไซค์ใช้หมอนลมสะดวกกว่า

5. ถุงนอน

ถุงนอนเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลย เพราะการเที่ยวกางเต็นท์ในหน้าหนาว สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งมีอุณหภูมิต่ำมาก การใช้ถุงนอนมีขนาดเล็ก กว่าผ้านวม แต่ช่วยกันหนาวได้ดีกว่า การซื้อถุงนอนสำหรับคนที่ชอบอากาศหนาว หรือเผื่อเดินทางขึ้นดอยบ่อยๆ ควรเน้นถุงนอนคุณภาพดี มี ความหนาแน่นของเส้นใยมากขึ้น จะช่วยกันหนาวได้ดีมากขึ้น แต่ราคาจะแพงขึ้นเช่นกัน

 

นอกจากถุงนอนแล้ว ก็ควรซื้อเปลทหารเอาไว้ด้วย เผื่อใช้ร่วมกัน หรือกรณีเป็นการเที่ยวหน้าร้อน หน้าฝน อากาศไม่หนาวมาก ใช้แค่เปลเป็นผ้าห่มแทนถุงนอนก็เอาอยู่

 

6. เก้าอี้พับ

อุปกรณ์ตัวนี้มีความสำคัญมาก เพราะในการเดินทาง ไม่ว่าจะใช้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือรถทัวร์ ก็จะทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า การได้นั่งเก้าอี้สบายๆ จะช่วยผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยได้อย่าวดี และกิจกรรมที่เราทำ เมื่ออยู่ที่กางเต็นท์ ก็จะเป็นการนั่งๆ นอนๆ หากไม่มีเก้าอี้ ก็ จะต้องนั่งกับพื้น สร้างปัญหาทำให้ปวดเข่า ปวดหลัง ไม่สบายตัว ตัวอย่างเก้าอี้พับแบบต่างๆ
1. เก้าอี้พับขนาดเล็ก พับแล้วเล็กมาก ใหญ่กว่ามือถือเล็กไม่มาก เหมาะสำหรับการเดินทางโดยรถจักรยานยนต์
2. เก้าอี้ขนาดใหญ่ นั่งสบายขึ้น แต่เก้าอี้ราคาถูก ผ้าจะขาดเร็วมาก หากจะซื้อมาใช้ จำเป็นจะต้องใช้ผ้าหนาๆ เย็บเสริมเพิ่มความแข็งแรง บางรุ่นใช้ครั้งเดียวก็ต้องทิ้ง นั่งแล้วขยับไปมา ผ้าก็ขาด ส่วนรุ่นราคาสูง ก็จะเกินงบ เพราะราคาจะเกิน 600 บาทขึ้นไป

7. เตาแก๊สพกพาและแก๊สกระป๋อง

เตาแก๊สพกพา จะมีขนาดเล็ก ราคาเริ่มต้นประมาณ ร้อยกว่าบาทขึ้นไป เลือกแบบมีที่กันลมด้วย จะมีความปลอดภัยมากขึ้น

 

ส่วนแก๊สกระป๋องสามารถหาซื้อได้ตามโลตัส หรือ ร้านขายอุปกรณ์เดินป่า ราคากระป๋องละ 48 บาท แต่แนะนำให้ซื้อแบบแพ็คละ 3 กระป๋อง ให้ซื้อแบบ 250 กรัม ได้ปริมาณมากกว่า

8. ชุดหม้อ จาน ชาม ช้อน

อุปกรณ์ทำอาหารเหล่านี้ อาจจะซื้อชุดหม้อสนาม ซึ่งถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับการเที่ยวกางเต็นท์ พกพาสะดวก แต่ราคาก็สูงเช่นกัน แต่ อาจจะหาซื้อตามร้านทุกอย่าง 20 บาท มีหลายแบบ ราคาถูกกว่า แต่ให้เน้นของใช้ที่เป็นโลหะ ไม่เคลือบ ดูแลง่าย เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ไม่ต้องกลัวแตกหัก และยังใช้ทำอาหารได้ด้วย อย่างการทำไข่เจียวก็ใช้จานทอดไข่ แทนกระทะ เป็นต้น

 

9. เปลทหาร

เปลทหารนอกจากจะใช้ผูกเปลนอนแล้ว หากอากาศไม่หนาวเย็นเกินไปนัก ก็ใช้แทนผ้าห่มได้เช่นกัน การเที่ยวในหน้าร้อน หน้าฝน เอาแค่เปลติดตัวไปก็พอ ไม่ต้องพกถุงนอนก็ได้ ควรซื้อมุงแขวน และฟลายชีท มาใช้ร่วมกัน กลางฟลายชีทด้านบน ตามด้วยมุ้งแขวน และเปล แค่นี้ก็นอนหลับสบาย ในสถานที่ที่มีทากมากๆ อย่างเขาใหญ่ นอนเปลสบายใจ หรือหน้าฝนก็เช่นกัน ไม่เปียก

 

10. มุ้งแขวน

ในสถานที่มียุง มุ้งแขวนช่วยได้ แขวนไว้กลางเต็น แล้วลากชายมุ้งไปผูกกับมุมทั้ง 4 ของฟลายชีท การซื้อมุ้งแขวน อย่าซื้อที่มีประตู จะสร้างปัญหา ต้องเย็บติดกันในภายหลัง หรือต้องใช้คลิปหนีบ

 

11. ไฟตุ้มโซล่าเซลล์ ไฟประดับเต็นท์

ไฟตุ้มโซลาเซลล์จะมีแผงรับแสงแดดในตัว กลางวันก็เอาไปตากแดด กลางคืนก็ใช้งาน ไฟประดับเต็นท์ก็เช่นกัน ช่วยสร้างบรรยายกาศได้ดีมาก

 

12. พาวเวอร์แบงก์

แหล่งพลังงานเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แนะนำพาวเวอร์แบงก์แบบมีแผงโซล่าเซลล์ในตัว เป็นทางเลือกในการชาร์จไฟ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง จุดชาร์จไฟมีคนใช้งานร่วมกันจำนวนมาก หากเดินทางโดยรถยนต์ ก็ควรมีแผงโซล่าเซลล์ติดตัวไปด้วย เอาไว้ชาร์จมือถือ หรืออุปกรณ์อื่นๆ

 

13. พัดลมขนาดเล็ก

สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง อากาศอาจจะร้อน หรือ หากไม่ใช่หน้าหนาว พัดลมก็เป็นสิ่งจำเป็น พัดลมขนาดเล็กสามารถชาร์จไฟจากพาวเวอร์แบงก์ได้ ใช้งานสะดวก

 

เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับค่าจัดส่งสินค้า

การซื้อสินค้าที่ขายผ่านเน็ต จะมีค่าจัดส่ง อย่างสินค้าที่ได้แนะนำไปข้างต้นนั้น หากรวมค่าจัดส่งทั้งหมดแล้ว อาจจะเป็นเงินมากเกิน 300 บาท ดังนั้นอาจจะเดินทางไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ในห้าง หากอยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก เพื่อประหยัดค่าจัดส่ง

 

สำหรับบทความนี้ ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่หัดเที่ยวกางเต็นท์ ในงบประมาณ 2,000 บาท ก็สามารถซื้ออุปกรณ์กางเต็นท์ที่จำ เป็นได้เกือบครบ เพียงแต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ยี่ห้อที่นิยม และซื้อมาแล้ว ก็จะต้องนำมาปรับแต่ง เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น

 

แต่ในงบแค่นี้ หากเน้นสินค้ามียี่ห้อ ก็อาจจะได้แค่เพียงไม่กี่ชิ้น อย่างเต็นท์ดีๆ ก็อาจจะแพงเกิน 2,000 บาท เข้าไปแล้ว ที่ไม่แนะนำให้ใช้ของแพงๆ เพราะความนิยมในการเที่ยวกางเต็นท์ อาจจะเป็นแค่ช่วงๆ หนึ่งของอายุเท่านั้น ในช่วงอายุประมาณ 30 - 40 ปี ผู้เขียนชอบมาก ไปเกือบทุกอุทยานแห่งชาติ เคยไปอยู่เขาใหญ่ 4 เดือน ตอนนี้เบื่อมาก อิ่มตัว เต็นท์และอุปกรณ์ต่างๆ ยกให้คนอื่นไปหมดแล้ว รวมทั้งเต็นท์ที่ซื้อมาราคาหลักพันบาท ก็เหลือไว้นิดหน่อย