การใช้เน็ตซิมแบบรายเดือน สะดวกสบายใช้ก่อน จ่ายทีหลัง เวลาใช้ก็สนุกสนาน เกินบ้างก็คิดเอาเองว่า เอาน่า สบายๆ แต่พอถึงรอบบิล แล้วก็จะพากันตายทุกที โดยเฉพาะการใช้เน็ตซิมรายเดือนแบบจำกัดการใช้งานเช่น 20 ชั่วโมงจ่าย 99 บาทต่อเดือน รายไหนก็รายนั้น ใช้เกินแพ็คเกจเสียเงินเพิ่มกันถ้วนหน้า

บทความนี้จะพาไปเจาะลึกการใช้งานซิมเน็ตแบบนี้ เพื่อให้เข้าใจและใช้งานอย่างมีความสุข เงินในกระเป๋าก็ไม่โดนดูดไปโดยใช่เหตุ เพราะความไม่มีวินัย ความไม่รู้และเหตุสุดวิสัย

 

ซิมเน็ตรายเดือนจะแยกย่อยได้ 2 ประเภทคือ
1. เน็ตซิมรายเดือนคิดค่าใช้จ่ายเป็นนาที คิดตามระยะเวลาใช้งาน
2. เน็ตซิมรายเดือนคิดค่าใช้จ่ายเป็นเมกะไบต์ คิดตามปริมาณข้อมูลที่มีการรับส่ง เป็นเมกะไบต์ เช่น 1 บาท หรือ 1.5 บาท หรือ 2 บาท ต่อ 1 MB มือถือแต่ละค่าย คิดไม่เท่ากัน หากไม่ใช่เน็ตซิมโดยเฉพาะจะแพงมากหรืแม้แต่เน็ตซิมก็ตาม ก็ยังแพงอยู่ดี โดยเฉพาะของ Truemove จะคิด 2 บาทต่อ 1 MB (พฤษภาคม 2556)

ทำความรู้จักแพ็คเกจย่อยเน็ตซิมรายเดือนคิดเงินตามระยะเวลาใช้งาน
การใช้งานเน็ตซิมแบบนี้จะคิดเงินตามระยะเวลาในการใช้งาน เช่น 20 ชั่วโมงต่อเดือน 70 ชั่วโมงต่อเดือน หรือแบบไม่จำกัดจำนวนชั่วโมง เป็นต้น (ข้อมูลจากผู้ให้บริการอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง)
ตัวอย่างแพ็คเกจของ dtac แบบคิดเป็นชั่วโมง
แพ็คเก็จ 99 บาทต่อเดือน ใช้เน็ตได้ 20 ชั่วโมง
แพ็คเก็จ 199 บาทต่อเดือน ใช้เน็ตได้ 70 ชั่วโมง

คำแนะนำการใช้บริการแพ็คเกจเน็ตซิมรายเดือนคิดค่าใช้จ่ายเป็นนาทีหรือตามระยะเวลา
แพ็คเกจแบบนี้ จะจำกัดการใช้งานเป็นชั่วโมง ถ้าเป็นคนไม่มีวินัย ไม่มีการตรวจสอบค่าบริการบ่อยๆ ว่าเหลือเน็ตกี่ชั่วโมงแล้วละก็ บอกได้คำเดียวว่า อันตราย เพราะจะใช้เกินทุกเดือนอย่างแน่นอน ด้วยจำนวนการใช้งานแค่ 20 ชั่วโมงนั้น จะต้องเป็นคนที่ไม่มีเหตุให้ต้องใช้จริงๆ ในแต่ละเดือนหากมีเหตุให้ต้องออกนอกบ้าน และต้องใช้งานอินเตอร์เน็ต ยังงัยก็เกินครับ

นอกจากนี้ อาจจะเป็นเหตุสุดวิสัย เช่น ผมออกไปต่างจังหวัด ก็ใช้งานแท็บเล็ต เล่นไปเรื่อยจนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง เครื่องปิดตัวเอง สายชาร์จก็ไม่ได้เอาไป เปิดเครื่องไม่ติด ด้วยความที่คิดไปเองว่า แบตหมด เน็ตก็ควรจะตัด จริงๆ แล้วไม่ใช่ครับ มันก็คิดชั่วโมงของมันไปเรื่อย จนกว่าจะเอาเครื่องไปชาร์จแบต แล้วจึงเข้าไปยกเลิกการเชื่อมต่อ หากเกิดเหตุการแบบนี้ให้โทรไปหา Call Center เพื่อให้ปิดการใช้อินเตอร์เน็ต แล้วก็อย่าลืมโทรไปบอกให้เปิดให้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะใช้เน็ตไม่ได้ สรุปงานนี้คืนเดียวก็โดนไปหลายร้อยบาท

กรณีนี้ไม่เพียงแท็บเล็ตเท่านั้น แต่การเชื่อมต่อผ่านแอร์การ์ดเพื่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ก็เช่นเดียวกัน เล่นเน็ตแล้วเครื่องแฮงค์ แล้วบูตใหม่เอง ผมรู้สึกรำคาญ เน็ตก็ช้า ขี้เกียจเล่น จึงกด Power ปิดเครื่องไปเลย หารู้ไม่ว่า ชั่วโมงเน็ตก็รันไปเรื่อย โดนไปหนึ่งดอกของ AIS เดือนนั้นจ่ายไป 2600. บาท หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต้องเปิดคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ทำการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต แล้วก็ Disconnect จากนั้นจึงปิดเครื่อง ห้ามคิดเอาเองว่าเน็ตมันตัดอัตโนมัติ เพราะมันจะไม่ตัด นี่คือ 2 กรณีที่จะเกิดปัญหาการใช้ชั่วโมงเน็ตเกินโปรโมชัน 20 ชั่วโมงหรือแพ็คเกจอื่นที่คล้ายๆ กัน

การใช้งานโดยคิดเป็นชั่วโมงแบบนี้ กรณีเราใช้เกินระยะเวลาตามแพ็คเกจ เช่น เกิน 2 ชั่วโมงไปแล้ว ค่าบริการจะค่อนข้างแพง เช่น คิดนาทีละ 1 บาทหรือ ฃั่วโมงละ 60 บาท บริษัทมือถือบางรายคิดแพงกว่านี้ แพ็คเกจแบบนี้ หากไม่มีวินัยในการควบคุมการใช้งานแล้วละก็ อย่าไปใช้ครับ เสียเงินเปล่าๆ

การใช้แพ็คเกจแบบนี้ มีข้อดีที่ความเร็วครับ เป็นความคิดเห็นจากการสังเกตุของผมเอง เหมือนกับว่าทางผู้ให้บริการจะให้ปล่อยสัญญาณเน็ตให้เราดีเป็นพิเศษ เพื่อให้เราใช้เน็ตไหลลื่นและหมดเร็ว จะได้ต่อชั่วโมงเน็ตหรือพลาดจากการไม่ควบคุมชั่วโมงการใช้งาน ผู้ให้บริการก็จะได้เงินเข้ากระเป๋าสบายๆ และมากกว่าที่ได้รายเดือนเสียอีก ดูภาพที่ผมถ่ายไว้นะครับ ในแท็บเล็ตเป็นเน็ตซิมแบบ 20 ชั่วโมงต่อเดือนยังมีสัญญาณ 1 ขีดสามารถใช้งานได้ ในมือถือเป็นเน็ตซิมแบบไม่จำกัด แต่มันไม่มีคลื่นให้เลย ในแท็บเล็ตใช้งานได้ ต่อเน็ตได้ แต่เล่นเน็ตผ่านอีกซิมหนึ่งที่ไม่จำกัดชั่วโมงการใช้งานไม่ได้ ไม่มีคลื่น หุๆๆ คิดเอาเองครับ หลักฐานเห็นๆ ไม่มีการตัดต่อ

ตัวอย่างแพ็คเกจของ dtac คิดตามระยะเวลาแต่ไม่จำกัด
แพ็คเกจแบบนี้จะไม่มีปัญหาเหมือนกรณีข้างต้นที่ได้อธิบายไปแล้วนะครับ เช่น จ่าย 399 รวม Vat ก็ 427 บาท หากไปจ่ายกับ 7 ก็มีค่าธรรมเนียมอีกนิดหน่อย แต่เราจะใช้อินเตอร์เน็ตได้โดยไม่มีการจำกัดจำนวนชั่วโมงใช้งาน ใช้มากน้อยแค่ไหน ก็จ่ายเท่าเดิม 399 รวมกับ Vat และค่าธรรมเนียม

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานเน็ตซิมแบบไม่จำกัดชั่วโมงการใช้งาน
หากดูรายละเอียดในแพ็คเกจแล้ว จะเห็น * เล็กๆ ที่ระบุการใช้งานความเร็ว 3G เช่น แบบ 399.- บาทต่อเดือน จะระบุว่า Unlimited Starter 1 GB* ต้องอ่านและทำความเข้าใจก่อนนะครับ สำคัญมาก เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้บริการจะมีเงื่อนไขด้วยตัวหนังสือเล็กๆ ที่หลายคนไม่ยอมอ่าน เพราะไปสะดุดที่ 399.- ต่อเดือนเสียก่อน ความหมายก็คือเราจะใช้เน็ตในความเร็ว 3G ได้เพียง 1 GB เท่านั้น โดยจะรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วไม่เกิน42 mbps หลังจากใช้ถึง 1 GB แล้วความเร็วจะปรับลดเหลือ 64 kbps

ตัวอย่างการใช้บริการ
นางสาว สมศรีชอบดูซีรีเกาหลี วันเดียวก็ดูไปหลายตอน จนมีปริมาณการรับส่งข้อมูลครบ 1 GB นี่คือช่วงเวลาแห่งความสุข ใน 1 เดือนจะมีแค่วันเดียวเท่านั้น ต่อไปความเร็วในการใช้งานอินเตอร์เน็ต ก็จะถูกปรับลดลงไปเหลือไม่เกิน 64 KB เท่านั้น ต่างกันฟ้ากับเหวเลย และในความเร็วไม่เกิน 64 MB นั้น ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะสามารถใช้ได้เต็ม 64 KB นะครับ เพราะมีผู้ร่วมชะตากรรมอีกมาก ที่ต้องมาใช้งานร่วมกัน ตอนนี้ก็รอครับคือรอให้ถึงรอบเดือนใหม่ คุณก็จะได้ใช้งานที่ความเร็ว 3G อีกครั้ง มันเป็นแบบนี้ สำหรับแพ็คเกจ 399 ต่อเดือน อีกทั้งความเร็วการเชื่อมต่อไม่เกิน 64 kbps ดู Youtupe ไม่ได้หรอกครับ ช้าเกินไป เช็คเมล์ ท่องเน็ตพอได้

เมื่อเปรียบเทียบกับแพ็คเกจแบบไม่จำกัดที่ค่าบริการรายเดือนสูงกว่านี้เช่น 650 และ 890 บาทต่อเดือนแล้ว เราจะสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้เร็วกว่า สามารถใช้ 3 G ได้มากกว่า อีกทั้งเมื่อครบกำหนดการใช้งาน 3 GB ตามปริมาณที่กำหนดไว้แล้ว ก็ยังได้ใช้เน็ตในความเร็วที่ปรับลดแล้วไม่เกิน 384 Kbps ซึ่งหากเป็นการท่องเน็ต อ่านข่าว เช็คเมล์ ก็ถือว่า มีความสะดวกสบายพอสมควร นอกเสียจากว่า ไกลเขื่อนจริงๆ ปลายน้ำสุดๆไม่มีปัญหาครับ หากต้องการความเร็วก็ขับรถไปจอดใต้เสามือถือ รับสัญญาณได้เต็มๆ

เงื่อนไขการให้บริการยังไม่หมดครับ ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ ที่ต้องทำความเข้าใจอีกนิดหน่อย เงื่อนไขสุดท้าย สิทธิ์การใช้งาน 3G ความเร็วสูงสุด จะรวมการใช้งาน 3G และ EDGE ในทุกที่การให้บริการ หมายความว่าอย่างไร?

ในกรณีนี้หากพื้นที่ที่คุณใช้งานนั้น ไม่รองรับ 3G รองรับแค่ EDGE แต่คุณไปเปิดการใช้งาน 3G ในมือถือ ก็จะทำให้ระบบเหมารวมว่ามันเป็น 3G เช่น คุณใช้ 3G ในพื้นที่ที่รองรับ 3G จริงๆ อาจเป็นที่ทำงาน 500 MB ใช้งานที่บ้านซึ่งรองรับแค่ EDGE อีก 500 MB ระบบก็จะรวมการใช้งาน 3G เป็น 1 GB เพราะฉะนั้น หากพื้นที่ที่คุณอยู่ไม่รองรับ 3G ก็ต้องตั้งค่าในมือถือให้รับส่งข้อมูลจำกัดไว้แค่ 2G ก็พอ เพื่อเก็บปริมาณการใช้งานไว้ใช้กับสถานที่ที่รองรับ 3G จริงๆ

วิธีดูว่าเชื่อมต่อที่ความเร็วได้ระดับไหน 3G หรือ Edge หรือ GPRS ก็ดูสัญลักษณะที่แสดง ถ้า 3G ก็จะแสดง 3G ส่วน Edge จะแสดงตัว E แสดงว่ารองรับแค่ Edge กรณีนี้ในมือถือหรือแท็บเล็ต ให้เราเลือกการเชื่อมต่อที่2G หรือแค่ Edge ก็พอ เพื่อเก็บ 3G ไว้ใช้ในสถานที่ที่มีรองรับ จะได้ไม่เสียโอกาส

แพ็คเกจเน็ตซิมรายเดือนคิดค่าใช้จ่ายเป็นเมกะไบต์
แพ็คเกจแบบนี้จะคิดเงินตามข้อมูลที่มีการรับส่งเท่านั้น เช่น 99.- บาท สามารถรับส่งข้อมูลได้ 79 MB ดูแล้วน้อยมากๆ แต่หากเน้นไว้เช็คเมล์ เล่น Line บ้าง ก็น่าจะพอ แต่...
ตัวอย่างแพ็คเกจของ dtac
แพ็คเกจ 99.- บาท ใช้เน็ตได้ 79 MB
แพ็คเกจ 199.- บาท ใช้เน็ตได้ 250 MB

ตัวอย่างแพ็คเกจเน็ตซิมของ AIS
ในราคาเท่ากันแต่ได้จำนวนเมกะไบต์มากกว่า ก็ต้องดูว่า ที่อยู่อาศัยรองรับสัญญาณมือถือของ AIS หรือ ไม่ แม้ค่ายมือถือจะโฆษณาว่าครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ในอำเภอเมืองอย่างที่ผมอาศัยอยู่นั้น ไม่ค่อยมีคลื่น

เราไปทำความรู้จักแพ็คเกจนี้แบบเจาะลึกกันเลย
แพ็คเกจแบบนี้ จำกัดการรับส่งข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ตไว้เพียง 79 MBหรือ 250 MB กรณีที่เราใช้งานแพ็คเกจนี้แบบรายเดือน เราก็จะสามารถเชื่อมต่อเน็ตได้ตลอดเวลา โดยที่ถ้าข้อมูลที่มีการรับส่งไม่เกินแพ็คเกจ ก็จะไม่เสียเงินเพิ่ม อย่างแพ็คเกจ 79 MB นั้นเหมาะสำหรับไว้เช็คเมล์กับเล่น Line นิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ห้ามท่องเน็ต ห้ามดูรูป ห้ามดูวิดีโอ หากเผลอไปดู Youtube สักสองสามเรื่อง ก็อาจจะหมดแล้วเพราะแค่ 79 MB เท่านั้นเอง

การใช้บริการแบบรายเดือน ต้องมีวินัยมากๆ ครับ ไม่เช่นนั้นโดนดูดเงินกระฉูดแน่นอน เช่น เปิดใช้งานแพ็คเกจแบบนี้ วันแรกก็โหลดวิดีโอจาก Youtube ไป 100 MB นั่นก็หมายความว่า คุณใช้งานครบ 79 MB แล้วและยังมีส่วนเกินมาอีก 21 MB ซึ่งทางผู้ให้บริการจะคิดเงินเพิ่ม โดยมีค่าบริการรายเดือน 99.- บาทและเน็ตที่เกินอีก 21 MB บางรายคิด MB ละ 1 บาท 1.50 บาท หรือ 2 บาท สำหรับ Truemove เป็นอย่างไรบ้างละครับ หากเผลอไปสัก 500 MB ก็ 1000 บาททันที หรือเกิดเผลอไปเป็น GB ก็กระเป๋าบางแน่นอน

แพ็คเกจแบบนี้ยังมีรายละเอียดซ่อนเร้นที่หลายคนคิดไม่ถึงหรือรู้แต่ไม่สนใจอีกหลายอย่าง เช่น เมื่อใช้เน็ตเกิน 79 MB แล้ว คุณจะต้องปิดการใช้งานซิมเน็ตในมือถือหรือแท็บเล็ต ห้ามเปิด Data เด็ดขาด เพราะหากเปิดเมื่อไหร่ ก็เตรียมเสียเงินทันทีที่มีการรับส่งข้อมูล อาจจะมีใครส่งเมล์ ส่งข้อความมาทาง Line หรือแอพอัพเดทเอง ทางผู้ให้บริการจะคิดเงินไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเกิน 79 MB แล้วก็ตัดไม่ให้คุณใช้เน็ต คุณต้องปิดการเชื่อมต่อเน็ตหรือปิดการใช้งาน Data ด้วยตนเอง มือใหม่ส่วนใหญ่ โดนครับ เพราะนึกว่าเค้าใจดีปิดให้ สมมุติว่าในประเทศไทยมีคนใช้ SimNet แบบนี้สัก 5 ล้านคน แล้วมีพลาดแบบนี้ทุกเดือนๆ ละ 5 ล้านคน ฮ่าาๆๆบริษัทมือถือก็รวยเอาๆ ใครจะไปปิดให้ละครับท่าน เงินทั้งนั้น

การใช้งานแพ็คเกจเน็ตซิมแบบนี้ แม้จะควบคุมอย่างดี เช็คเมล์อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ท่องเน็ตแต่อย่างใด มั่นใจว่า อย่างไรก็ไม่มีทางเกินระยะเวลาตามแพ็คเกจแน่นอน อย่าครับ อย่าได้วางใจหากใช้งานเน็ตซิมกับมือถือสมาร์ทโฟน เพราะแอพบางตัว เราเผลอไปตั้งค่าให้มันอัพเดทเอง มีเป็นร้อยแอพในเครื่อง แล้วพากันอัพเดทกันเอง หรือมีบางอย่างที่มันอัพเดทเอง อะไรจะเกิดขึ้น แค่ 79 MB ก็พร้อมจะหายไปได้ทันที แม้เราจะไม่ได้ใช้งาน เพราะฉะนั้นคุณต้องมีความละเอียดรอบคอบอย่างมาก ในการควบคุมการใช้งาน เพื่อให้พอดีกับปริมาณการรับส่งข้อมูลแค่ 79 MB ในการใช้งานจริงๆ แล้ว ยากมากครับ ส่วนใหญ่เกิน เสียเงินเพิ่มให้ผู้บริการมือถือทั้งนั้น

การใช้เน็ตซิมแบบเติมเงินรายเดือนคิดตามปริมาณการใช้จะเชื่อมต่อเน็ตได้ที่ความเร็วสูงกว่า เน็ตซิมแบบคิดตามระยะเวลาใช้งาน
ลองดูจากภาพนะครับ การใช้งาน 3G จะเชื่อมต่อที่ความเร็วสูงกว่าเน็ตซิมแบบคิดตามระยะเวลาใช้งานซึ่งจำกัดความเร็วไว้ที่ 384 kbps เท่านั้น เมื่อเน็ตเร็ว ข้อมูลก็ถ่ายโอนเร็ว ปริมาณการใช้งาน ก็หมดเร็ว คนใช้ได้ประโยชน์ในเรื่องความเร็วในการเชื่อมต่อ ส่วนคนให้บริการก็มีโอกาสได้เงินเพิ่มมากขึ้น สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มีแต่ได้กับได้ ฝ่ายหนึ่งได้ความเร็วในการใช้งาน ฝ่ายหนึ่งได้เงินเพิ่มขึ้น ฮาๆๆ

มันเป็นเรื่องของธุรกิจ การใช้งานเน็ตซิมแบบนี้ เน้นไว้เช็คเมล์ Line หรือจัดการกับข้อมูลที่เป็นข้อความอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้หรอกครับ เพราะฉะนั้นให้ความเร็วสูงๆ 42 Mbps มาก็แค่นั้น ไร้ประโยชน์ เพราะพวกข้อความ มันไม่ต้องการเน็ตแรงๆ เอาไว้เล่นวิดีโอคอล ก็โดนดูดเงินกระฉูดครับ เพราะ 75 หรือ 250 MB หากใฃ้รับส่งข้อมูลประเภทวิดีโอ จะได้สักกี่นาที

คำแนะนำ
การใช้เน็ตแบบนี้ ที่น่าจะควบคุมการใช้งานได้จริงๆ ควรจะเป็นการใช้งานกับแอร์การ์ดและเชื่อมต่อเน็ตกับโน้ตบุ๊ค หรือใช้มือถือเป็นโมเด็ม เพราะเราจะเชื่อมต่อเฉพาะที่ต้องการจริงๆ เท่านั้น จึงไม่มีโอกาสที่แอพใดๆจะอัพเดทเอง อาจจะมีแอพบางตัวทำการเชื่อมต่อเน็ตเอง มีโอกาสที่จะควบคุมได้จริงๆ การใช้เน็ตซิมแบบรายเดือนของผู้ให้บริการบางรายจะมี WiFi ให้ใช้งานไม่จำกัด เช่นของ AIS ให้ตรวจสอบตำแหน่งที่อยู่อาศัยของเราก่อนว่า มีจุดปล่อยสัญญาณ WiFi หรือไม่ หากมีจุดปล่อยสัญญาณ ก็เป็นตัวเลือกที่ดี หากไม่มี ก็ขอแค่ให้รู้ว่าอยู่ตรงไหนก็พอ เวลาที่ต้องการความเร็ว ก็ขับรถไปจอดตรงนั้น แล้วเล่นให้เต็มที่ไปเลย มาอยู่ต้นน้ำแล้วนี่นะ

บทสรุปการใช้เน็ตซิมแบบรายเดือน
การใช้งานแพ็คเกจรายเดือนไม่ว่าจะแบบเป็นชั่วโมงจำกัดหรือไม่จำกัดก็ตาม ให้แจ้งทาง Call Center ให้จำกัดวงเงินค่าใช้บริการไว้ด้วยเช่น ห้ามเกิน 1000 บาท เพื่อป้องกันกรณีเน็ตรั่ว ควบคุมไม่ได้ก็จะไม่สาหัสมากนักเพราะถูกจำกัดไว้แค่นั้น แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่ได้จำกัดไว้ที่ 1000 บาทเสียทีเดียว ดูในบิลผมครับ จำกัดไว้แล้ว 1000 บาท ก็ยังใจดีแถมมาให้อีก เกือบสี่ร้อยบาท ไม่มีทางปฏิเสธได้เลยครับ ใช้รายเดือน ยังงัยก็ต้องจ่าย

ยังครับ ยังไม่หมด สำหรับการใช้งานเน็ตซิมแพ็คเกจแบบรายเดือน ยังมีอีกเรื่องที่ต้องใส่ใจ ก็คือ การปิดเบอร์หรือยกเลิกเบอร์โทรศัพท์มือถือนั่นเอง สำหรับ Truemove หรือ dtac นั้นคุณจะต้องตรวจสอบ ศูนย์ให้บริการที่จะปิดเบอร์ให้เราด้วย ตอนเปิดบอร์ง่าย แต่ตอนปิดยาก เช่น ผมอยู่ที่ชอบๆ ต่างจังหวัด หากต้องการปิดเบอร์มือถือ ผมต้องไปที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตเท่านั้น ในภาคตะวันออกมี 2 ที่ คือ ชลบุรีและอีกที่จำไม่ได้แล้วครับ สมมุติว่าคุณอยู่เกาะช้างและเปิดเบอร์ dtac แบบรายเดือนที่นั่น เวลาจะปิดเบอร์ก็ต้องมาปิดเบอร์ที่ชลบุรี หากผลัดวันประกันพรุ่งไปหลายเดือนแบบผม กว่าจะหาเวลาไปปิดเบอร์ได้ ก็หมดไปหลายลัง

ยังมีอีกนิดหน่อยครับ การปิดเบอร์นั้น ต้องดูรอบบิลให้ดี ปิดให้ตรงรอบบิลไม่เช่นนั้นโดนอีกหนึ่งดอก ตบท้ายก่อนจากกัน ของผมโชคดีที่ใช้กับ iPad เพราะมันรับ SMS หรือใช้โทรศัพท์ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายยุบยิบในส่วนนี้ตามมาอีกอย่างแน่นอน

เน็ตซิมแพ็คเกจแบบรายเดือนนั้น หากจะใช้งานจริงๆ ก็เน้นไม่จำกัดดีที่สุด เช่น จ่ายทีเดียว 399 บาทหรือ 650 บาทต่อเดือน นอกเสียจากจะมีวินัยควบคุมการใช้จ่ายได้ดีมากๆ แต่ถ้าไม่มีวินัยจริงๆ อย่ายุ่งกะมันครับยังงัยก็โดน รวมยอดทั้งปีแล้ว ไม่ต่างกันกับแบบไม่จำกัดการใช้งาน ไม่มีรอดสักรายหรอกครับ

Sponsored Ads