การเลือกเน็ตซิมสำหรับเล่นเน็ตมีหลายค่าย หลายแบบ หลายแพ็คเกจมาก การเลือกแบบที่เหมาะกับการใช้งานก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้มาก
สำหรับผมเองก็พักอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ค่อนข้างประหลาด ถ้าอยู่ในห้องจะไม่มีคลื่นของ Dtac แต่จะรับสัญญาณของ Truemove กับ AIS ได้ แต่หากออกไปนอกห้องจะรับสัญญาณ dtac ได้ แถมดีกว่า AIS ส่วนของ AIS ก็ผีเข้าผีออก ก่อนจะเติมเงิน สัญญาณเต็ม พอเติมเงินไปแล้วสัญญาณหาย ใช้เน็ตไม่ได้ บางเดือนเหลือชม. เน็ตเกิน 10 ชั่วโมง เลยเป็นที่มาของการมี SIM Net ครบทุกค่าย ซึ่งเลือกผิดๆ ถูกๆ บวกกับความไม่มีวินัย ไม่ใส่ใจในการใช้งานด้วย ค่าใช้จ่ายเลยบานปลาย ดังนั้นเพื่อให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีเราจึงควรศึกษาเกี่ยวกับเน็ตซิมให้อย่างละเอียดก่อนใช้งาน
ประเภทของเน็ตซิม
เน็ตซิมอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. เน็ตซิมแบบรายเดือน คิดค่าบริการเป็นรายเดือน ต้องลงทะเบียน กรอกใบสมัครใช้งาน
2. เน็ตซิมแบบเติมเงิน คิดค่าบริการโดยการเติมเงินเข้าเบอร์มือถือก่อนแล้วจึงสมัครใช้งานตามแพ็คเกจที่ต้องการ
เน็ตซิมแบบรายเดือน
เน็ตซิมแบบนี้เราต้องจ่ายเป็นรายเดือน ลงทะเบียน เซ็นสัญญาใช้งาน ซึ่งมี 2 แบบให้เลือก
1. เน็ตซิมรายเดือนคิดค่าใช้จ่ายเป็นนาที คิดตามระยะเวลาใช้งาน เช่น 20 ชั่วโมงจ่าย 99. บาทต่อเดือน
2. เน็ตซิมรายเดือนคิดค่าใช้จ่ายเป็นเมกะไบต์ คิดตามปริมาณข้อมูลที่มีการรับส่ง เช่น 75 MB จ่าย 99. บาทต่อเดือน
คำเตือน
หากไม่ใช้งานเน็ตซิมรายเดือนแบบไม่จำกัดการใช้งาน หรือไม่มีวินัยในการควบคุมการใช้งานแล้วละก็ อย่าได้ยุ่งกับเน็ตซิมแบบรายเดือนที่จำกัดการใช้งานเช่นได้ใช้ 20 ชั่วโมงต่อเดือนหรือคิดค่าบริการเป็นเมกะไบต์ต่อเดือน เพราะแต่ละเดือนจะควบคุมการใช้งานยากมาก ส่วนใหญ่เสียเงินค่าเน็ตเพิ่มทั้งนั้น
หากจำเป็นต้องใช้งาน ขอให้ตรวจสอบสอบยอดการใช้งานบ่อยๆ และจำกัดวงเงินการใช้งานไว้ด้วย เช่น ไม่เกิน 500 บาท หรือ 1000 บาท แนะนำให้จำกัดไว้ที่ 500 บาท เพราะเวลาใช้งานจริง แม้จะแจ้งให้จำกัดแค่ 1000 บาท แต่ก็จะยังบานปลายได้อยู่ดีอาจจะเกินไป 3-400 บาท หรือเกือบๆ 1500 บาท ได้อยู่ดี เมื่อรวม VAT
หากไม่แน่ใจว่าจะสามารถควบคุมการใช้งานได้ ก็เปลี่ยนเป็นแบบไม่จำกัดการใช้งาน เช่น จ่าย 399 บาท จะใช้กี่ชั่วโมง ก็ได้ตามใจชอบ แต่จ่ายเท่าเดิม ปลอดภัยกว่า เพราะโดนบ่อยๆ รวมทั้งปีแล้ว ก็ไม่ต่างกัน
เน็ตซิมแบบเติมเงิน
เน็ตซิมแบบนี้เราต้องเติมเงินก่อนจะใช้งาน โดยเติมเงินเข้าระบบแล้วก็สมัครแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตที่ต้องการใช้งาน มีให้เลือก 2 แบบคล้ายกัน
1. เน็ตซิมเติมเงินคิดค่าใช้จ่ายเป็นนาที คิดตามระยะเวลาใช้งาน เช่น 20 ชั่วโมงจ่าย 99. บาท ต่อเดือน
2. เน็ตซิมเติมเงินคิดค่าใช้จ่ายเป็นเมกะไบต์ คิดตามปริมาณข้อมูลที่มีการรับส่ง เช่น 75 MB จ่าย 99. บาทต่อเดือน
ข้อดีของการใช้เน็ตซิมแบบเติมเงิน
ข้อดีของการใช้เน็ตซิมแบบเติมเงินก็คือ การควบคุมค่าใช้จ่ายทำได้ดีกว่า เพราะเราต้องจ่ายเงินก่อน จึงจะใช้งานได้ ทำให้เรารู้ว่า เราจ่ายไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว แม้จะไม่มีวินัยในการใช้ก็ตาม แต่หากเงินหมดกระเป๋าแล้ว ก็จบกัน รอเงินเดือนออก ค่อยว่ากันใหม่ ต่างจากการใช้งานแบบรายเดือน การคิดเงินทีหลัง เราก็จะใช้อย่างสนุกสนาน แต่จะทุกข์เมื่อยามต้องจ่าย เพราะเห็นตัวเงินเต็มตา
การจะเลือกใช้ ซิมเน็ตแบบใด ก็ต้องดูพื้นที่ให้บริการมือถือด้วย รองรับค่ายไหน รองรับ 3G หรือไม่ หากไม่รองรับแต่เปิดใช้งานซิม 3G ไปก็เท่านั้น เปล่าประโยชน์
ซิมทุกแบบไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ของทุกค่ายมือถือจะสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ทั้งนั้น เพียงแค่เลือกให้เชื่อมต่อเท่านั้นเอง แต่อันตรายกับเงินในกระเป๋า เพราะค่าบริการจะแพงกว่ามาก หากมีความจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยใช้ซิมสำหรับโทรออกรายเดือน ซึ่งปกติจะใช้โทรศัพท์อย่างเดียว แต่วันนี้มีความจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ต ก็ให้สมัครใช้บริการก่อน ซึ่งแต่ละค่อยมือถือจะมีตัวเลือกให้สมัครใช้งานโดยกด * ตามด้วยตัวเลขต่างๆ เช่น ของ dtac กด *104*12*1469302# สมัครใช้งาน 20 ชั่วโมง 99.- แล้วโทรศัพท์ออกเพื่อสมัคร ใช้งานชั่วคราว
สมมุติว่าโปรโมชันโทรศัพท์ที่ใช้อยู่นั้น มีค่าบริการ 500 บาทต่อเดือน เมื่อสมัครใช้อินเตอร์เน็ตแบบนี้ก็จะมีค่าบริการเพิ่มขึ้นมาอีก 99.- บาท เป็นค่าบริการสมัครใช้อินเตอร์เน็ต แต่ถ้าหากไม่สมัครแบบนี้ ทำการเชื่อมต่อทันที ค่าบริการจะค่อนข้างแพง อย่างน้อยก็นาทีละ 1 บาท หรือ 60 บาทต่อชั่วโมงนั่นเอง และเมื่อสมัครใช้บริการแค่ 20 ชั่วโมง เพราะมีเหตุให้ต้องใช้แค่นั้น ก็อย่าใช้จนเพลินเกิน 20 ชั่วโมงแล้ว ต้องสมัครใหม่ ไม่เช่นนั้นค่าบริการก็กระฉูดเหมือนเดิม