บทความแนะนำแนวทางการซื้อหาชุดใช้งานพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ชุดเล็กๆ เพื่อใช้งานกับอุปกรณ์อีเล็คทรอนิคขนาดเล็กๆ อย่างมือถือหรือ แท็บเล็ต โดยเฉพาะคนชอบเที่ยวป่า แค้มปิ้งใช้ชีวิตกลางแจ้งหรือจะหาไว้ใช้ในบ้านก็ตาม
โซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ราคาไม่แพง เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน ในงบประมาณ 2000 กว่าบาท ก็ สามารถซื้อหาอุปกรณ์มาสร้างชุดผลิตกระแสไฟฟ้าเองได้ไม่ยาก
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ทั้งหมด
1. แผงโซลาร์เซลล์ มีทั้งแบบ 12v หรือ 24v ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดด
2 . ตัวควบคุมการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ ทำหน้าที่นำกระแสไฟฟ้าที่โซลาร์เซลล์ผลิตขึ้นมา ไปชาร์จเก็บไว้ในแบตเตอรี่
3. แบตเตอรี่ ทำหน้าที่เก็บประจุไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์
4. ตัวแปลงไฟหรือ Inverter ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้าในแบตเตอรี่เป็นไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์อีเล็คทรอนิคเช่น มือถือ แท็บเล็ต หลอดไฟ ฯลฯ
5. อุปกรณ์อื่นๆ เช่น กล่อง สายไฟ สวิทซ์
อยากใช้งานโซลาร์เซลล์ต้องรู้อะไรบ้าง
สำหรับผู้ที่สนใจจะใช้งาน แนะนำให้หาข้อมูลไปตามนี้ เพื่อจะได้เลือกขนาดและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้งานได้อย่างเหมาะสม
การคำนวณปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้
ก่อนอื่นเราจะต้องคำนวณพลังงานไฟฟ้าที่เราต้องใช้ก่อน หาจำนวนวัตต์ให้ได้ก่อน เพื่อจะได้เลือกอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ตัวอย่าง อุปกรณ์ที่ ต้องใช้งานจะมีดังนี้
1. มือถือสมาร์ทโฟน
2. แท็บเล็ต
3. หลอดไฟให้ความส่องสว่างขนาด 12v 5w
การใช้งานจะเน้นใช้งานประมาณวันละ 10 ชั่วโมง อุปกรณ์ทัั้ง 3 รายการที่จะใช้นั้นจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้ารวมทั้ง
1. แท็บเล็ตหรือมือถือสมาร์ทโฟนก็เช่นเดียวกันจะใช้ไฟฟ้าขนาดเท่ากัน หากใช้งาน 10 ชั่วโมงต่อวันก็จะใช้ไฟฟ้ารวม 50 วัตต์
2. หลอดไฟให้ความส่องสว่างขนาด 12v 5w จำนวน 1 ดวง ใช้งาน 10 ชั่วโมงก็ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 5w x 10 = 50 วัตต์
สรุปรวม พลังงานไฟ้ฟ้าที่เราจะใช้ทั้งหมดรวม 100 วัตต์ มือถือ แท็บเล็ตและหลอดไฟรวมกัน ผมขอสมมุติสถานการณ์ว่า ผมไปกางเตนท์เที่ยวตามป่า
หาที่เงียบๆ ทำงาน ที่คำนวณไว้ 10 ชั่วโมงก็จะใช้งานช่วงก่อนนอนและตื่นนอนสัก 5 ชั่วโมง รวมเป็น 10 ชั่วโมง
คำนวณขนาดของแบตเตอรี่ที่ต้องใช้เพื่อเก็บไฟฟ้า
เมื่อรู้ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้แล้ว เราก็จะไปคำนวณขนาดความจุของแบตเตอรี่ ควรใช้ขนาดเท่าไร จึงจะเก็บไฟฟ้าได้เพียงพออย่างที่เราต้องการ วิธีคิดง่ายๆ ก็คือ เอา 100 w x 2 = 200 วัตต์ แบตเตอรี่ต้องเก็บไฟได้อย่างน้อย 2 เท่าของปริมาณไฟฟ้าที่เราต้องการใช้งาน เพื่อไม่ให้ไฟฟ้าใน แบตเตอรี่หมดเกลี้ยง จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว
แบตเตอรี่มีหลายขนาดเช่น 12v 18AH, 12v 26AH, 12v 40AH เป็นต้น อย่างแบตเตอรี่ขนาด 12v 18AH จะเก็บไฟฟ้าได้ 12 x 18 = 216 วัตต์ ใกล้เคียงกับที่เราต้องการ ก็คือ 100 วัตต์ แต่ยังเหลือไฟฟ้าในแบตเตอรี่อีก 100 วัตต์ (ในความเป็นจริงจะไม่ถึง 100 วัตต์) เพื่อไม่ให้ไฟฟ้าถูกใช้งานจนหมด เพราะจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว จะให้ดีต้องเลือกแบตเตอรี่ลูกใหญ่กว่านี้เช่น 12v 20AH ซึ่งจะเก็บไฟฟ้าได้ 12 x 20 = 240 วัตต์ ขนาด นี้กำลังดี เหมาะสมกับการใช้งานมากกว่าขนาด 12v 18AH
คำนวณขนาดแผงโซลลาร์เซลล์ที่ต้องใช้
เมื่อรู้ปริมาณไฟฟ้าที่ต้องใช้ ขนาดแบตเตอรี่แล้ว ก็จะไปเลือกแผงที่ต้องใช้ โดย สถานที่ที่เราอยู่นั้น ต้องดูก่อนว่า รับแดดได้เต็มที่กี่ชั่วโมงต่อวัน เช่น 6 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่แบตเตอรี่ที่เราต้องใช้นั้น มีความจุ 216 วัตต์ แล้วเราจะใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเท่าไหร่ แบบไหนดี
ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักแผงโซลาร์เซลล์กันก่อน หากเน้นง่ายๆ ก็คือ เลือกซื้อขนาดสำเร็จรูปไปเลย จะสะดวก เป็นขนาดมาตรฐานเช่น ขนาด 12v 40 watt หากเรานำไปใช้งานกับแบตเตอรี่ที่มีความจุ 216 วัตต์ จะใช้เวลาชาร์จไฟประมาณ 216 หาร 40 = 5.4 ชั่วโมง เผื่อเมฆบังดวงอาทิตย์บ้าง อะไรบ้าง ก็ถือว่าใกล้เคียงตามที่เราต้องการ แต่อนาคตหากแดดน้อยกว่านี้ ก็อาจจะหาซื้อแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มอีกหนึ่งแผง รวม 80 วัตต์ ก็จะใช้เวลา ชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ 216 หาร 80 = 2.7 ชั่วโมง ก็เกือบๆ 3 ชั่วโมง นั่นเอง
คำนวณขนาดของตัวควบคุมการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่
เมื่อโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้าได้แล้ว เราจะใช้ตัวควบคุมการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ ช่วยนำกระแสไฟฟ้าไปชาร์จลงเก็บในแบตเตอรี่ ตัวชาร์จเจอร์มีขนาด 12v 10AH, 24v 10AH เป็นต้น เราจะเลือกขนาด 12v 10AH ก็พอ ซึ่งจะรองรับไฟฟ้าประมาณ 12 x 10 = 120 วัตต์ เกินกว่านั้นจะร้อนและพัง สรุปว่า เราสามารถใช้ แผงโซลาร์เซลล์ได้ 3 ตัวเท่านั้นกับตัวควบคุมการชาร์จเครื่องนี้ (3 x 40 = 120 วัตต์)
จากหัวข้อก่อนหน้าเราจะใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 40 วัตต์ แผงเดียว ก็ไม่มีปัญหากับตัวชาร์จเจอร์ เพราะรับได้มากถึง 120 วัตต์ หากใช้สองแผงรวม 80 วัตต์ ก็ยังรองรับได้เช่นกัน ซึ่งหากใช้แผง 3 แผงก็จะชาร์จได้เร็วมาก 216 หาร 120 = 1.8 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ก็ชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้ว
สรุปรายการอุปกรณ์และราคา
ตอนนี้เราก็พอจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน จำนวนวัตต์ของไฟ้ฟ้าต่อไปก็จะไปสรุปรายการอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมด
1. แบตเตอรี่ขนาด 12v 18AH ราคา 1250 บาท
2. แผงโซลาร์เซลล์ 12v 40 Watt 1 แผง ราคา 1500 บาท
3. ตัวชาร์จเจอร์ 12v 10AH ราคาประมาณ 500-600 บาท
4. อุปกรณ์อื่นๆ เช่น หลอดไฟ สายไฟ ที่แปลงไฟจากแบตเตอรี่ 12v เป็น 5v รวมๆ ประมาณไม่เกิน 500 บาท
รวมอุปกรณ์ทั้งหมดประมาณ 3850 บาท ในความเป็นจริงอาจจะเกินกว่านี้
ผลงานที่จะได้
เมื่อนำอุปกรณ์ทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วก็จะได้ประมาณนี้
A. แผง Solar Cell ขนาด 12v 40 วัตต์ จะทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดที่ 40 วัตต์ต่อชั่วโมง
B. Charger Controller ชุดควบคุมการชาร์จ โดยนำกระแสไฟฟ้าจาก Solar Cell ไปชาร์จให้กับแบตเตอรี่
C. แบตเตอรี่ขนาด 12v 18AH ความจุ 216 วัตต์ ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จไฟให้เต็มประมาณ 216 หาร 40 วัตต์ = 5.4 ชั่วโมง ก็รวมๆ แล้วประมาณ 6 ชั่วโมง กว่าจะเต็ม เผื่อมีแดดบ้าง ไม่มีบ้าง
D. หลอดไฟ 12v 5w หากทำงานอยู่ในบ้าน ต้องการแสงสว่างก็สามารถนำไฟ 12v 5w มาต่อกับแบตเตอรี่ได้โดยตรง หรืออาจจะใช้อุปกรณ์อื่นอย่าง พัดลมเล็กๆ ที่ไว้ใช้ในรถยนต์ก็ได้ หลอดไฟ 5w หากใช้กับแบตเตอรี่ 216w จนหมดเกลี้ยงก็จะใช้ได้ 216 หาร 5 = 43.2 ชั่วโมง แต่ความเป็นจริง แล้วจะใช้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ก็ประมาณ 20 ชั่วโมง เพราะหากใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง แบตเตอรี่จะเสื่อมเร็ว
E. ตัวแปลงไฟแบตเตอรี่จาก 12v เป็น 5v ซึ่งจะสามารถนำมือถือหรือแท็บเล็ตมาชาร์จได้เลย หรือกรณีใช้งานในเวลากลางคืนก็นำมาเสียบกับตัวชาร์จ แบบ USB ได้เลย สำหรับแท็บเล็ตหรือมือถือสมาร์ทโฟนนั้นจะใช้ไฟ 5v 1A หรือ 5 x 1 = 5 วัตต์ ก็จะใช้ได้ 216 หาร 5 = 43.2 ชั่วโมง แต่ความเป็น จริงแล้วจะใช้ได้ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น ก็ประมาณ 20 ชั่วโมง นอกจากนี้หากใช้งานอุปกรณ์หลายตัวพร้อมกัน ชาร์จมือถือ 2 เครื่องและหลอดไฟ 5w อีกหนึ่งหลอด ก็จะใช้ไฟรวม 15w ก็จะใช้งานได้เพียง 216 หาร 15 =14.4 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงจะใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยงไม่ได้ แบตเตอรี่จะ เสื่อมเร็ว ก็จะใช้ให้เหลือสักครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจะใช้ได้จริงๆ ประมาณ 7.2 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น น่าจะสัก 5 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ก็ต้องรอวันใหม่ เพื่อชาร์จ แบตเตอรี่อีกครั้ง
F. Inverter แปลงไฟจาก 12v เป็น 220v กรณีต้องการใช้งานกับโน้ตบุ๊ค หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ไฟฟ้า 220 v จะต้องมีตัวแปลงไฟแบบนี้ ซึ่งแบตเตอรี่ เล็กๆ แบบนี้ไม่เหมาะที่จะใช้ เพราะ อุปกรณ์อย่างโน้ตบุ๊คกินไฟมาก เช่น 53.76 วัตต์ หากนำโน้ตบุ๊คมาใช้กับระบบเล็กๆ แบบนี้ก็จะใช้ไฟฟ้าได้เพียง 216 หาร 53.76 = 4.01 ชั่วโมงเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วไม่ถึง อาจจะได้แค่ 2 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้นเอง ไม่ควรใช้เพราะกินไฟมากเกินไป หากจะใช้กับโน้ต บุ๊ค ต้องเพิ่มขนาดแบตเตอรี่ให้ใหญ่กว่านี้หลายเท่าตัว
หมายเหตุ
การคำนวณจะคำนวณโดยประมาณเอาเท่านั้น แต่ในการใช้งานจริงๆ ตัวเลขจะไม่ตรงตามนี้ เพราะตัวแปรเยอะ แดดไม่มี การชาร์จ การสูญเสีย พลังงานระหว่างที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ก็ได้เดินสำรวจราคาที่เซียร์รังสิต หากสั่งซื้อจากอินเตอร์เน็ตก็จะได้ถูกกว่านี้แน่นอน ในงบประมาณนี้ ก็จะได้อุปกรณ์ให้ พลังงานไฟฟ้าแบบสะอาด และประหยัด ซึ่งนอกจากการใช้งานในกรณีออกนอกสถานที่ เที่ยวป่า กางเต็นท์แล้ว หากจะใช้ในบ้านก็ได้เช่นกัน เช่น ใช้เปิด ไฟหน้าบ้าน ในบ้าน เป็นแหล่งพลังงานสำรอง กรณีไฟดับ ถือว่าคุ้มค่าในระยะยาว แต่การใช้งานแบตเตอรี่นั้น ห้ามใช้เกิน 50% เพราะจะทำให้แบตเตอรี่ เสื่อมเร็วมาก และหากต้องการยืดอายุการใช้งานให้มากกว่านี้ควรจะเลือกแบตเตอรี่ดีๆ หน่อยอย่างแบตเตอรี่แบบ Deep Cycle และเน้นความจุสูงพอ สมควร ซึ่งก็ต้องมาคำนวณกันใหม่
สุดท้ายนี้ก็หวังว่า บทความนี้คงจะมีประโยชน์สำหรับหลายๆ ท่านที่กำลังมองหาแหล่งพลังงานสำรอง อาจจะเพื่อการใช้งานนอกสถานที่ หรือใช้ใน บ้าน เพื่อช่วยประหยัดค่าไฟ ถ้าในแต่ละเดือนใช้ไฟประมาณ 300 บาท ในระยะเวลาปีกว่าๆ ก็คุ้มค่าแล้ว แต่อุปกรณ์ทั้งหมดมีอายุการใช้งานมากกว่านั้น ยกเว้นแบตเตอรี่หากใช้จนหมด อาจจะเสื่อมในเวลาไม่ถึงปี