ความหมาย : สำนวนนี้มักใช้เปรียบเทียบกับคนที่มีความแตกต่างจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม พวกพ้องหรือคนใน ครอบครัว โดยอาจจะทำอะไรที่ต่างออกไป ไม่เหมือนกัน และมักจะเป็นพฤติกรรมหรือการกระทำเรื่องไม่ดี

ตัวอย่าง :

ครอบครัวของ ดร. ชาติชาย มีลูกทั้งหมด 4 คน 3 คนแรก เรียนจบมหาวิทยาลัยและได้ตำแหน่งการงานที่ดี มีความก้าวหน้า แต่ลูก คนสุดท้อง ซึ่งเป็นผู้ชาย ทำตัวเป็นแกะดำ ไม่ยอมเรียน เกเร งานการไม่ทำ ขอแต่เงินพ่อแม่ ไม่รู้จักโต เป็นปัญหาให้ครอบครัวอย่างมาก

ในโรงเรียน อาจจะมีนักเรียนบางคนทำตัวเป็นแกะดำ แทนที่จะตั้งใจเรียน เพื่อโอกาสได้ที่เรียนดีๆ มีงานดีๆ รองรับในอนาคต กลับทำตัวเกเร เกะกะระราน คนอื่น และสุดท้ายมักจะโดนไล่ออก ไร้อนาคต เพราะไม่มีโรงเรียนใดยอมรับให้เข้าเรียน

การเป็นแกะดำ ไม่ใช่พฤติกรรมที่ดี แต่บางทีในช่วงเวลาหนึ่งของคนเรา บางคนก็เลือกที่จะเป็นแกะดำ ไม่ทำอะไรตามระเบียบของ สังคมหรือหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติทั่วไปของคนเรา ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามแต่กระแสสังคม ความคิดในแต่ละช่วงเวลา เพียงแต่การทำตัวเป็นแกะดำบ้าง ควรเพียงแค่ให้รู้ว่า ดีไม่ดีอย่างไร และที่สำคัญ ก็อย่าไปทำให้ใครเดือดร้อน เพราะการใช้ชีวิตด้านมืด ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่จะต้องเรียนรู้ เพื่อให้กลายเป็นคนที่สมบูรณ์ในอนาคต

เด็กนักเรียนบางคนเป็นแกะดำ ในช่วงแรก ใช้ชีวิตตามใจ ไม่ทำอะไรตามระเบียบที่สังคมกำหนด อาจจะช่วงมัธยมต้นหรือมัธยม ปลาย ก่อนจะเริ่มเบื่อ และเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไป บางคนช่วงวัยรุ่นเกเรมาก แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนตัวเอง เป็นคนดีได้เช่นกัน ในขณะที่บางคน ทำตัวเป็นแกะขาวมาทั้งชีวิต อาจจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นแกะดำก็ได้

 

Sponsored Ads