บทความนี้จะมาแนะนำแนวทางป้องกันตัวเองจากแอปดูดเงิน ป้องกันเงินในบัญชีธนาคารของเรา เมื่อใช้มือถือสมาร์ทโฟน ซึ่งทุกวันนี้จะพบกับรูปแบบการหลอกเอาเงินที่หลากหลายรูปแบบจากบรรดามิจฉาชีพ ใครที่มีเงินในบัญชีธนาคาร เหมือนแอปหรือคนเหล่านั้นจะรู้ และพุ่งเป้าไปโจมตีโดยเฉพาะ หากรู้ไม่เท่าทัน ก็มีโอกาสสูญเงินได้
การใช้มือถือมีโอกาสถูกถอนเงินจากบัญชีจากแอปอันตรายซึ่งมีรูปแบบการทำงานที่เน้นไปในทางควบคุมมือถือของเราแล้วทำรายการโอนเงิน ถอนเงินออกจากบัญชีแทนเรา ถอนเงินไปจนหมดบัญชี ผลเสียที่ตามมา เช่น
- การแก้ไขปัญหาจะทำได้ยาก ธนาคารก็อาจจะบ่ายเบี่ยงไม่รับผิดชอบ อ้างว่า เราทำรายการเอง การตรวจสอบ การพิสูจน์ก็ใช้ต้องเวลา
- กรณีเป็นความผิดของพนักงาน หากทางธนาคารไม่รับผิดชอบ ก็อาจจะทำได้แค่ฟ้องล้มละลายคนทำ แต่ไม่ได้เงินคืน หรือได้บางส่วน
- การแจ้งตำรวจ ตำรวจก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องแบบนี้ เนื่องจากจะต้องเป็นคนที่เก่งด้านไอที การเขียนโปรแกรม การแฮ็คข้อมูลจึงจะสามารถตามหาเบาะแสได้ คนธรรมดาทั่วไป ไม่มีทางทำได้ง่ายๆ และกว่าจะทำอะไรได้ คนร้ายก็หายเข้ากลีบเมฆไปแล้ว
- ไม่มีเงินหมุนเวียน หรือเงินเก็บในชีวิต หายไปเลย ชีวิตบั้นปลายลำบาก
- ฯลฯ
ในบทความนี้ก็จะพยายามรวบรวมความรู้เกี่ยวกับแอป หรือวิธีที่แอปอันตรายเหล่านั้น ดูดเงินจากบัญชีธนาคาร หรือ ควบคุมการทำงานมือถือของเรา ตลอดจนวิธีป้องกันตัวเอง
สิ่งที่ต้องทำ... เมื่อมีเงินฝากในบัญชีและใช้แอปธนาคารผ่านมือถือ
นี่คือสิ่งแรกสำคัญที่สุดที่จะต้องทำ... สำหรับใครที่ใช้มือถือสมาร์ทโฟน ติดตั้งแอปธนาคาร และมีเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวนมาก หลายแสน หลายล้าน นี่คือสิ่งที่จะต้องเตรียมรับมือ และเตรียมการป้องกันไว้ก่อน ข้อย้ำว่า ต้องทำเพื่อความปลอดภัยกับเงินในบัญชีของท่าน
1. เปิดบัญชีธนาคารอย่างน้อย 2 บัญชี บัญชีหลัก และบัญชีรอง หากโอนเงินบ่อย โอนจากบัญชีหลักเข้าบัญชีรอง ก็เปิดบัญชีธนาคารเดียวกัน เขตเดียวกัน อาจจะคนละสาขา จะช่วยประหยัดค่าโอนเงินกรณีโอนผ่านตู้ ATM จากนั้นก็มีจะหลายแนวทางในการปกป้องเงินของตัวเอง
- แนวทางที่ 1
ถ้ากลัวเงินหายจากบัญชี ก็ให้ใช้การโอนเงินผ่าน ATM หรือโอนผ่านเว็บไซต์ธนาคาร หรือธนาคารทางโทรศัพท์ หรือตั้งค่าให้โอนเงินอัตโนมัติทุกเดือนเข้าบัญชีรอง โดยตั้งค่าให้โอนเงินไปบัญชีรองได้บัญชีเดียวเท่านั้น หากว่าเงินหายจากบัญชี ก็จะตรวจสอบได้ง่าย เพราะคนทำ ก็คือ เจ้าหน้าที่ธนาคารเท่านั้น ส่วนบัญชีรองก็ติดตั้งแอปธนาคารเพื่อใช้โอนเงิน รับเงินตามปกติ ไม่ต้องกลัวเงินหาย ถ้าหายก็จะไม่มาก เพราะเงินอยู่ในบัญชีหลัก
- แนวทางที่ 2
หามือถือมาไว้ใช้อีกสักเครื่องเน้นติดตั้งแอปมาตรฐานและแอปธนาคารไว้เท่านั้น ผูกไว้กับบัญชีหลัก อาจจะเป็น iPhone รุ่นเก่าก็ได้ เช่น iPhone 6s/7 ก็ยังใช้งานได้อีกนาน ไม่ติดตั้งแอปโซเชียล เฟสบุ๊ค ไลน์ Tiktok ไม่ดูเน็ต ไม่ใช้โทรออกรับสาย หรือ ติดต่อลูกค้า เครื่องนี้เอาไว้โอนเงินอย่างเดียว โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหลัก ไปเข้าบัญชีรอง หากสามารถทำได้ จะมีความปลอดภัยมาก แต่จะต้องพกหลายเครื่อง และต้องระวังพวกคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารู้เบอร์ได้อย่างไร เพราะผู้เขียนเน้นซื้อซิมเทพทุกปี ได้ซิมใหม่ แต่มีคนรู้เบอร์ ทั้งๆ ที่ไม่เคยบอกใครเลย
- แนวทางที่ 3
บัญชีธนาคารบัญชีหลัก ให้สมัคร การแจ้งเตือนผ่าน SMS เมื่อมีคนเข้าไปวุ่นวายกับเงินในบัญชีหลักของเรา ซึ่งอาจจะเป็นพนักงาน หรือ เงินในบัญชีมีการโอน การโอนเข้า ก็ตั้งให้เตือนผ่าน SMS และอีเมล์ แต่อีเมล์จะช้ากว่า SMS กว่าจะเตือนว่ามีการเข้าระบบ แต่ละธนาคารจะคิดค่าบริการมากน้อยต่างกันไป โดยคิดเป็นรายเดือน
- แนวทางที่ 4
ศึกษาการใช้ธนาคารทางโทรศัพท์ให้คล่อง เพื่อที่เวลามีการเข้าไปยุ่งกับเงินในบัญชีของเรา จะได้โทรเข้ามาจัดการเองได้ เช่น อายัดเงิน หรือ ถามยอดเงิน หรือ ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ แต่จะมีค่าบริการเป็นค่าโทรศัพท์ ตัวอย่าง ธนาคารกรุงเทพ กด 1333 โทรออก แล้วทำตามที่ระบบแนะนำ เช่น เลือกรายการ กด 1 กด 2 ทำอะไร กดหมายเลข 16 หลัก บนบัตร ATM ใส่รหัสบัตร ATM 6 หลัก จากนั้นก็ทำรายการ เป็นต้น
- แนวทางที่ 5
สมัครธนาคารออนไลน์ให้กับบัญชีธนาคารหลัก แล้วเพิ่มบัญชีรองเข้าระบบ ซึ่งจะสามารถโอนเงินผ่านเว็บไซต์ได้ เมื่อทำรายการก็จะส่ง OTP ไปยังซิมมือถือที่ตั้งไว้ เพื่อยืนยัน จะมีความปลอดภัย แม้จะมีคนเข้าระบบได้ ก็จะโอนเงินไม่ได้ เพราะไม่มี OTP ยืนยัน ซึ่งจะส่งไปที่ซิมของเรา เว้นแต่พนักงานธนาคารเท่านั้น ที่จะทำได้
2. บัญชีธนาคาร บัญชีรอง ก็ไว้ใช้งานทั่วไป โอนเงิน จ่ายเงิน ผูกกับบริการชำระเงินต่างๆ ฯลฯ จะใช้วิธีโอนจากบัญชีหลัก มาที่บัญชีนี้ แล้วใช้บัญชีนี้ โอนต่ออีกที แต่ละเดือนใช้เท่าไร ก็จัดการไปตามนั้น หรือ จะใช้เงินทำอะไรบ้าง ก็โอนเติมเงินเข้าไป ไม่มีการไปวุ่นวายกับบัญชีหลัก
3. ใช้แอปชำระเงินแอปอื่นๆ ทำรายการในการโอนเงิน เช่น แอปเป๋าตังค์ โดยโอนเงินจากบัญชีหลัก เข้าแอปนี้ แล้วใช้แอปนี้ชำระเงิน โอนเงินไปบัญชีบุคคลอื่นอีกที ข้อดีก็คือ ไม่ต้องเปิดบัญชีธนาคารให้เสียค่าธรรมเนียม ค่าบัตร ATM
คำเตือน
การป้องกันตัวเองเพียงด้านเดียวไม่พอ ต้องระวังอย่าเชื่อใจเจ้าหน้าที่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ที่เข้าถึงเงินในบัญชีธนาคารของเราได้ กรณีแนะนำชวนลงทุน หรือกรณีแนะนำให้ติดตั้งแอป หรือ อาสาจะติดตั้งให้ เพราะเราไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารนั้น ใครไว้ใจได้บ้าง อาจเป็นสายมิจฉาชีพ อาจจะแอบวางกับดักไว้ในมือถือของเราก็ได้ กันไว้ก่อน เพราะเวลาเกิดปัญหาเงินถูกถอนในภายหลัง จะสร้างความยุ่งยากมากกว่าจะได้เงินคืน หรือ อาจจะไม่ได้คืน แต่เสียไปมากกว่าเดิม เสียเวลา เสียเงินค่าติดตาม แต่สุดท้ายอาจจะไม่ได้อะไร เพราะไม่มีใครช่วยอะไรได้
ตัวอย่างแนวทางป้องกันเงินในบัญชีธนาคารจากมิจฉาชีพทางมือถือ
หากได้จัดระเบียบเงินในบัญชีธนาคารตามที่ได้แนะนำในหัวข้อก่อนหน้าไปแล้ว คราวนี้เงินในบัญชีจะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะการเข้าถึงเงินในบัญชีหลักที่มีเงินจำนวนมาก จะทำได้ยากมาก หากสามารถเข้าถึง ก็จะหยุดอยู่แค่บัญชีรองเท่านั้น
1. อย่าไว้ใจเจ้าหน้าที่ธนาคาร
นี่คือเรื่องแรกที่ต้องระวัง เพราะเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงเงินในบัญชีของเราได้ หรือแม้แต่จะนำข้อมูลการเงินของเราไปขายต่อให้มิจฉาชีพก็ทำได้ อย่าไว้ใจให้ทำธุรกรรมการเงิน สามารถเข้าออกไปจัดการกับเงินของเราได้ เจ้าหน้าที่บางคนก็มาชวนลงทุน หลายคนก็โดนแอบถอนเงิน ยักยอกเงิน เพราะตัวเองมีปัญหาการเงิน ฯลฯ การโอนเงินจากบัญชีหลักไปเติมในบัญชีรองแทบทุกวัน เงินเหลือเท่าไร ก็จะรู้ได้ทันที ตรวจสอบง่าย เพราะจะเน้นโอนไปยังบัญชีรองบัญชีเดียวเท่านั้น หากเกิดความผิดปกติ จะต้องรีบดำเนินการติดต่อธนาคารทันที เมื่อเงินในบัญชีหายไป มีการถอนโดยที่เราไม่ได้ทำ
2. ใครก็ตามที่ติดต่อเข้ามา เกี่ยวกับเรื่องเงินให้ตั้งธงไว้ก่อนว่าเป็น มิจฉาชีพ
ใครก็ตามที่ติดต่อเข้ามา ไม่ว่าทางการโทรศัพท์พูดคุย LINE หรืออีเมล์ หรือ SMS หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ธนาคาร จะเดินทางมาเองก็ตาม ให้คิดว่าเป็นมิจฉาชีพเอาไว้ก่อน มีปัญหาอะไร ให้เข้าไปติดต่อโดยตรงที่หน่วยงานนั้นๆ ไปพูดไปคุยกันต่อหน้าเลย เช่น ตำรวจ สรรพากร ถ้าให้ทำอะไรผ่านมือถือ ก็ห้ามทำอย่างเด็ดขาด นี่คือด่านแรกที่ต้องระวัง เพราะจะมาทุกรูปแบบ เสนอการกู้ยืม เล่นกับความโลภของเรา ข่มขู่ อาสาช่วยเหลือ ฯลฯ
3. ลิงค์ที่แชร์ทั้งหลาย ทุกช่องทางอย่าคลิก อย่าแตะ
ลิงก์ที่แชร์ทุกช่องทางให้คิดว่าอาจจะเป็นอันตรายเอาไว้ก่อน ถ้ามีมาบ่อยๆ ก็ให้เดาว่า มิจฉาชีพน่าจะรู้ข้อมูลการเงินของเรา บางคนมีเงินหลักแสน แล้วมิจฉาชีพก็มุ่งเป้ามาโดยตรง แสดงว่าต้องมีข้อมูล แล้วข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน หากไม่รั่วไหลจากธนาคาร ดังนั้น ตั้งธงไว้ก่อนว่า คนที่ติดต่อเข้ามา น่าจะรู้การเงินของเรา ลิงก์ต่างๆ ก็อย่าไปคลิก ไปแตะ ความอยากรู้อยากเห็นอาจจะทำให้เสียเงินในบัญชี และเมื่อใดก็ตามที่มีคนติดต่อเข้ามา ต้องรีบหาทางป้องกันเงินในบัญชี ตรวจสอบ เปลี่ยนรหัสผ่าน เปิดบัญชีสำรอง ไม่ยุ่งกับบัญชีหลักที่มีเงินมาก
4. หามือถือสำรอง แท็บเล็ตไว้ใช้งานที่ค่อนข้างเสี่ยง
สำหรับใครที่ชอบดู อ่าน สื่อต่างๆ ในเน็ต หรือเว็บไซต์ที่อาจจะไม่ปลอดภัย ก็แนะนำให้ใช้มือถือสำรองแบตความจุสูงๆ หรือ แท็บเล็ต แยกต่างหากกับมือถือที่มีแอปธนาคาร เพื่อป้องกันปัญหา จากการถูกไวรัส หรือ ถูกแอปประสงค์ร้ายแอบเข้ามาในเครื่อง
5. อย่าซน ลดความอยากรู้อยากเห็น
ความซนความอยากรู้อยากเห็นจะนำมาซึ่งปัญหา ลองตัวอย่าง
1. มี SMS เข้ามา พร้อมกับข้อความ แนะนำสินเชื่อกรุงไทย ให้กู้ มีลิงค์ tinyurl.com เจอแบบนี้อย่าไปซน อย่าไปอยากรู้ เพราะหากในมือถือไม่ได้ติดตั้งแอปป้องกันไวรัสไว้ ก็มีโอกาสถูกแอบติดตั้งแอปอันตราย หรือ อาจจะเป็นแอปดูดเงินก็ได้
2. ผู้เขียนทดลองเข้าไปดู เข้าเน็ต ไปยังเว็บไซต์ tinyrl.com ผลปรากฏว่า แอปตรวจจับไวรัส ได้แจ้งเตือนว่า เว็บไซต์นี้ มีไวรัส ดังนั้นหากใครได้รับ SMS หรือ ลิงก์ที่แชร์ ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ใน Facebook Line ฯลฯ อย่าไปคลิก ผู้เขียนรู้วิธีป้องกัน จึงกล้าทดลอง
6. บล็อก SMS อีเมล์ ข้อความที่แชร์
ถ้ามีเงินในบัญชีธนาคาร มีมือถือเครื่องดียว และติดตั้งแอปธนาคารไว้ ต้องระวัง ช่องทางเหล่านี้มิจฉาชีพอาจจะใช้เป็นช่องทางหลอกล่อติดตั้งแอปในเครื่องได้
7. ตั้งสติ รีบตรวจสอบเงินในบัญชี เมื่อมีคนไม่รู้จักติดต่อมา
เมื่อมีคนไม่รู้จักติดต่อเข้ามา ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นใครก็ตาม รีบตั้งสติ ขอตัวทำธุระส่วนตัวก่อน กดตัดสาย จากนั้นก็รีบบบบบบบบบ..... ตรวจสอบเงินในบัญชี หรือ เปลี่ยนรหัสผ่านการเข้าบัญชี หรือ ตัดการเชื่อมต่อเน็ต หรือให้โทรมาเครื่องอื่น ที่ไม่มีแอปธนาคาร ถ้าอยากจะลองเสี่ยง อยากรู้ว่าจะมามุกไหน อยากโดนหลอก
8. ตัดการเชื่อมต่อเน็ต ปิดเน็ต
เมื่อมีการติดต่อเข้ามา หรือใช้แอปใดๆ หรือ หน้าจอมือถือมีการเด้งโฆษณา หรือหน้าจอมีอาการค้าง ให้รีบทำการตัดการเชื่อมต่อเน็ตทันที วิธีที่ง่าย ก็คือ กดปุ่มปุิดเครื่องเลย แล้วเปิดใหม่ จากนั้นปิดการต่อเน็ต แล้วรีบตรวจหาแอปที่ไม่รู้จัก ที่อาจจะแอบมาติดตั้งในเครื่อง ตลอดจนเช็คเงินในบัญชี เปลี่ยนรหัสผ่าน แล้วจึงต่อเน็ตในเครื่องนั้นๆ อีกที การตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคาร การอายัดบัตร ATM ใช้การโทรศัพท์ก็ได้ ตัวอย่างของธนาคารกรุงเทพ จะทำแบบนี้
9. อย่าฝากความหวังไว้กับธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หน่วยงานเหล่านี้แม้จะสามารถช่วยเหลือได้ แต่กว่าจะได้เงินคืน ก็ใช้เวลานาน เสียเวลา การติดต่อ ติดตามก็มีค่าใช้จ่าย จึงควรหาทางป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ในเรื่องนี้ก็หาได้ยาก
10 . หมั่นสำรวจแอปในเครื่อง ไม่ใช้ลบออก
แอปในเครื่อง ตัวไหนไม่เคยใช้เลย แอปไหนแอบติดตั้งเข้ามา ก็ลบได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าลบแล้วจะทำให้เครื่องมีปัญหา เพราะแอปมาตรฐานที่มากับเครื่อง ระบบจะไม่ยอมให้ลบ เพราะลบแล้ว เครื่องอาจจะทำงานไม่ได้ แต่แอปที่สามารถลบได้ แสดงว่าปลอดภัย ไม่มีปัญหากับมือถือเครื่องนั้นๆ
11. อย่าให้ใครยุ่งกับมือถือ
มือถือที่ติดตั้งแอปธนาคารเอาไว้ อย่าให้ใครมายุ่งกับมือถือ เพราะอาจจะแอบติดตั้งแอปอันตรายได้ ด้วยวิธีง่ายๆ และเร็วมาก เช่น การเปิดแอป Chorme แล้วไปยังเว็บไซต์ที่มีไฟล์อันตรายให้โหลดมาติดตั้ง ซึ่งสามารถทำได้ในเวลาไม่นาน เช่น ใช้การย่อ URL เว็บอันตรายไว้ การเปิดเว็บเหล่านั้นก็จะพิมพ์ข้อความไม่มาก ยากจะตามทัน หรืออาจจะไปแอบเปิดการตั้งค่าบางอย่างที่เป็นอันตรายกับเครื่องเอาไว้ได้เช่นกัน
12. กรณีเครื่องค้างต้องรีบกดปิดทันที
กรณีมีคนติดต่อเข้ามา หรือเข้าแอปใดๆ ทำงานใดๆ แล้วเครื่องมีอาการผิดปกติ เช่น ค้าง กดอะไรก็ไม่ได้ ต้องรีบกดปิดเครื่อง ถ้าปิดเครื่องไม่ได้ ก็รีบใช้เข็มจิ้มให้ซิมออก ตัดการเชื่อมต่อเน็ต เพราะวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ ก็จะใช้มือถือของเราแทนเรานั่นเอง มีแอปที่สามารถควบคุมเครื่องได้ และทำงานต่างๆ แทนเราได้ สิ่งที่เราจะทำได้ ก็คือ ต้องรีบกดปิดเครื่อง หรือ ถอดซิมออก เมื่อเครื่องถูกปิด หรือ เน็ตถูกตัด ก็จะไม่สามารถควบคุมเครื่องของเราได้ จากนั้นก็รีบตรวจสอบเงิน หาตู้ ATM ใกล้ๆ เปลี่ยนรหัส ATM หรือ ติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อตรวจสอบเงินในบัญชี และอายัดไว้ก่อน แล้วจึงมาเปิดเครื่องอีกครั้ง
13. ฝึกใช้ธนาคารทางโทรศัพท์ให้คล่อง
ธนาคารแต่ละแห่งจะมีช่องทางติดต่อทางโทรศัพท์ ซึ่งเชื่อว่าน้อยคนเคยใช้บริการ เพราะจะเสียค่าใช้จ่าย ค่าโทรศัพท์เป็นนาที ให้ดูด้านหลังซองใส่บัตร ATM จะมีข้อมูลการติดต่อ เช่น
- ธนาคาร กรุงเทพ กด 1333 โทรออก แล้วทำตามคำแนะนำ ให้กดตัวเลือกบนมือถือ เพื่อทำรายการ
- ธนาคาร กสิกรไทย กด 02-888-8888 แล้วโทรออก
- ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา กด 1572 แล้วโทรออก
- ธนาคาร ธกส กด 02-555-0555 แล้วโทรออก
- ธนาคาร กรุงไทย กด 02-111-1111 แล้วโทรออก
- ธนาคาร ไทยพาณิชย์ กด 02-777-7777 แล้วโทรออก
14. โอนเงิน รับเงินบ่อย หามือถือมาไว้ใช้งานแยกกัน
กรณีใช้มือถือ โอนเงิน รับเงิน จัดการการเงินบ่อยๆ ควรใช้ iPhone ไม่ต้องใช้เครื่องรุ่นใหม่ เน้นรุ่นเก่าที่ติดตั้งแอปธนาคารได้ก็พอแล้ว Fโดยเฉพาะเครื่องเล็กๆ พกพาง่าย ส่วนการใช้งานทั่วไป ก็ใช้อีกเครื่องหนึ่ง
ร15. หัสผ่าน วิธีตั้ง วิธีจำรหัสผ่าน
การตั้งรหัสผ่านต้องตั้งให้มีความยากต่อการเดา จะช่วยให้มีความปลอดภัย เช่น R12y$ki34 ส่วนวิธีจำรหัสผ่านที่ยากๆ แบบนี้ ให้ใช้วิธีเขียนลงกระดาษทุกวัน เขียนแล้วก็ฉีกทิ้งทุกวัน หรือเปิดแอปวาดภาพในมือถือ เขียนแล้วลบทิ้ง ก็จะจำได้เอง จำได้อย่างฝังใจเลยทีเดียว
16. ปิดการแจ้งเตือนแอปที่แฝงโฆษณา
แอปบางตัวจะมีการแจ้งเตือน พร้อมกับเด้งหน้าโฆษณาด้วย ก็จัดการปิดการแจ้งเตือนเหล่านั้น เพราะบางช่วงที่อาจจะไม่มีสติ แล้วดันไปอเจอโฆษณาบางประเภทอาจจะพลาดได้ เช่น เด้งหน้าจอบอกว่า เครื่องโดนไวรัส แตะ เพื่อติดตั้งด่วน หรือ คุณถูกรางวัล หรือ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ อาจจะพลาด เผลอไปแตะเข้า ก็อาจจะโดนแอบติดตั้งแอปอันตรายในเครื่อง การแจ้งเตือนจากแอปต้องเลือกผู้ส่งที่ไว้ใจได้ หรือไม่ก็ปิดไปเลย กันพลาด
17. ไม่ใช้ไวไฟฟรี
ไวไฟฟรีอาจจะโดนแอบดักรหัสผ่านได้ ดังนั้นหากจะต้องทำการโอนเงิน ก็อย่าใช้ไวไฟของใคร มีวิธีง่ายๆ ก็คือ ให้เติมเงินเข้ามือถือ แล้วเปิดเน็ต ก็จะโอนเงินได้ โอนเสร็จแล้วก็ปิดเน็ต ง่ายๆ แค่นี้เอง แต่จะเสียค่าบริการมากหน่อย ก็ไม่เป็นไร อย่างไรเสียก็ปลอดภัยกับเงินในบัญชีของเรา
18. เก็บเงินสดติดตัวหรือของมีค่าที่แลกเป็นเงินได้
การเก็บเงินสดติดตั้ง หรือ ของมีค่าที่สามารถแลกเป็นเงินได้ง่าย เอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน เงินในบัญชีโดนแอบถอน การยืมเงินแล้วไม่คืนตามกำหนด ฯลฯ และเงินเหล่านี้ก็อย่าให้ใครรู้ เพราะเมื่อมีคนรู้ บางคนก็จะขอยืมเงินไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ยืมแล้วไม่คืน
สรุป
สำหรับวิธีการป้องกันดังที่กล่าวมานั้น หากสามารถทำได้ ก็จะมีความปลอดภัย เงินในบัญชีธนาคาร ไม่ถูกดูด ไม่ถูกถอนออกไปอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปให้สั้นๆ ตามนี้ ทำแค่นี้ก็เพียงพอ
1. แยกบัญชี เปิด 2 บัญชี หลัก และ รอง บัญชีหลักเก็บเงินไม่ไปยุ่งกับมัน โอนเงินที่ต้องใช้จ่ายเข้าบัญชีรอง ซึ่งจะติดตั้งแอปธนาคาร หรือ ผูกบัญชีกับบริการต่างๆ อย่างไรก็ทำได้ เพราะเงินมีไม่มาก
2. ใครก็ตามที่ติดต่อเข้ามาไม่ว่าทางการโทรศัพท์ Line เฟสบุ๊ค หรือแม้แต่การมาหาที่บ้าน โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ หรือแม้จะไม่เกี่ยวข้องก็ตาม ขอให้ตรวจสอบก่อนว่า เรามีเงินในบัญชีกี่บาท เตรียมหาทางป้องกันเอาไว้ก่อน และตั้งธง ไว้ก่อน ว่าเป็นมิจฉาชีพ กรณีเป็นเจ้าหน้าที่จริงๆ ก็ตามที ให้นัดหมายไปติดต่อที่สำนักงาน หากยังยืนกรานจะต้องพูดคุยกันนอกสถานที่แสดงว่า มีความไม่ชอบมาพากล อย่างกรณีที่เป็นสรรพากร หากเรามีปัญหาเรื่องการจ่ายภาษี ทางสรรพากรจะติดต่อเอง เรียกไปคุย
3. มือถือของเราที่ติดตั้งแอปธนาคารเอาไว้ หรือต้องใช้เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ระวังอย่าให้ใครมายุ่ง โดยไม่จำเป็น และระวังอย่าเล่นเน็ตไปทั่ว เข้าเน็ตอันตรายอาจจะถูกแอบติดตั้งแอปอันตรายได้