รถยนต์จะใช้การระบายความร้อนของเครื่องยนต์ด้วยน้ำเป็นหลัก หากระบบนี้มีปัญหาจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเครื่องยนต์ ดังนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องของน้ำยาเติมหม้อน้ำ หม้อน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อจะได้ดูระบบหม้อน้ำรถยนต์ได้อย่างถูกวิธี

 

การทำงานของระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ มีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายตัว เช่น หม้อน้ำ ท่อน้ำ ข้อต่อ วาล์วน้ำ ปั๊มน้ำ ฝาหม้อน้ำ เป็นต้น ระบบที่ว่ามาทั้งหมด มีโอกาสเกิดสนิมหรือตะกรัน ข้างใน ในรถที่ไม่เติมน้ำยาหม้อน้ำ หรือ ท่อแตก ชิ้นส่วนที่อยู่ในระบบหม้อน้ำรั่ว ซึม ก็หาจุดที่มีปัญหาไม่พบ เพราะน้ำไม่มีสี ดูยากว่าออกจากจุดใดบ้าง

เมื่อน้ำลดลง เครื่องยนต์จะเริ่มร้อน และร้อนจัดจนชิ้นส่วนภายในเสียหาย พังได้ เมื่อน้ำแห้ง เช่น ฝาสูบ ปะเก็นเครื่อง มีโอกาสเจอค่าเสียหายหลักหมื่นตามมา

 

การเติมน้ำยาหม้อน้ำมีข้อดีอย่างไร

การเติมน้ำยาหม้อน้ำมีข้อดีหลายอย่างเช่น
1. ไม่เกิดสนิมในระบบ สังเกตุได้จากหม้อพักน้ำที่ต่อออกจากหม้อน้ำ จะยังคงไม่มีคราบสกปรก โดยเฉพาะคราบสีสนิมจากหม้อน้ำ หากไม่สะอาด ก็จัดการทำความสะอาด แล้วรอดูผล หากไม่นานก็มีคราบสนิมเหมือนเดิม ก็ต้องนำรถไปตรวจเช็คระบบหม้อน้ำ


2. ฝาหม้อน้ำ ที่เกิดสนิมจนชำรุด ไม่สามารถควบคุมการเปิดปิดน้ำได้ หม้อพักน้ำและฝาหม้อน้ำมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า


3. วาล์วน้ำ อุปกรณ์ตัวนี้จะมองไม่เห็นจะต้องถอดออกมาดู หากท่อพักและฝาหม้อน้ำมีคราบสนิม หรือเกิดสนิม ก็ควรจะถอดออกมาตรวจสอบได้แล้ว การถอดก็ไม่ยาก


4. ปั๊มน้ำ เป็นอุปกรณ์ที่จะต้องถอดมาดูเหมือนวาล์วน้ำ หากท่อพักและฝาหม้อน้ำมีคราบสนิม หรือเกิดสนิม ก็ควรจะถอดออกมาตรวจสอบ เช่นกัน โดยเฉพาะรถเก่า รถมือสองในการซื้อ การดูรถ ก็ควรตรวจสอบจุดนี้ให้ดี

 


5. ดูคราบสนิมตามจุดเชื่อมต่อท่อน้ำต่างๆ กรณีรถคันนั้นเป็นรถมือสอง เจ้าของอาจจะล้างห้องเครื่องอย่างดี แต่การสตาร์ตรถและเร่งเครื่องแรงๆ หากมีจุดไหนที่รั่ว ก็จะตรวจสอบได้ เพราะน้ำจะเกิดแรงดันสูงและดันออกตามรูรั่วต่างๆ หากเติมน้ำยาหม้อน้ำเอาไว้ ก็จะทิ้งคราบเป็นสีของน้ำยาหม้อน้ำ เช่น สีเขียว รู้เลยว่า น้ำรั่วตรงนี้

 

ข้อเสียการเติมน้ำยาหม้อน้ำ

การเติมน้ำยาหม้อน้ำมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสีย ก็คือต้องตรวจสอบว่า น้ำยาหม้อน้ำยี่ห้อนั้น เมื่อใช้ไปนานๆ อาจจะตกตะกอนกลายเป็นกรดกัดกร่อนชิ้นส่วนต่างๆ ภายในระบบหม้อน้ำหรือไม่ และมีระยะเวลากี่เดือน กี่ปี ที่จะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาหม้อน้ำ ตามระยะเวลา

 

คันนี้เป็นรถของผู้เขียนเอง หลังจากซ่อมหม้อน้ำเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนปั๊มน้ำ วาล์วน้ำ และไม่ได้เติมน้ำยาหม้อน้ำ ผ่านไปไม่กี่เดือน เมื่อเปิดฝาหม้อน้ำ ก็พบว่าเริ่มเป็นสนิมแล้ว

 

ส่วนคันนี้เติมน้ำยาหม้อน้ำ ไม่มีปัญหาเรื่องสนิมในระบบหม้อน้ำ หม้อพักน้ำ ฝาหม้อน้ำ แต่ก็ต้องถ่ายน้ำยาออกตามระยะเวลา

 

การดูแลรถยนต์ที่ไม่เติมน้ำยาหม้อน้ำ

ร้านซ่อมหม้อน้ำบางคนก็แนะนำว่า อย่าเติมน้ำยาหม้อน้ำ เพราะเมื่อเริ่มเสื่อมสภาพจะกลายเป็นกรด กัดกร่อนชิ้นส่วนภายใน เช่น ฝาหม้อน้ำ วาล์วน้ำ ปั๊มน้ำ แต่แนะนำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำในหม้อน้ำเป็นระยะๆ โดยหมั่นตรวจดูหม้อพักน้ำ ฝาหม้อน้ำ หากเริ่มมีคราบสนิมเกิดขึ้นแล้ว ก็แสดงว่า ภายในน่าจะเริ่มแย่ ลองถ่ายน้ำในหม้อน้ำออก หากน้ำไม่ใสก็ควรเปลี่ยน และควรตรวจสอบสปริงของฝาหม้อน้ำหากเริ่มมีปัญหาเพราะเกิดจากสนิม ก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน

 

ประเภทของน้ำยาหม้อน้ำ

น้ำยาหม้อน้ำมีหลายแบบเช่น
1. น้ำยาหม้อน้ำที่ไม่ต้องผสมน้ำ นำมาเติมลงในหม้อน้ำได้ทันที รถยนต์แต่ละยี่ห้อ จะมีน้ำยาหม้อน้ำเฉพาะยี่ห้อ หรือ อาจจะเฉพาะรุ่น
2. น้ำยาหม้อน้ำแบบผสมน้ำ เทลงไปผสมกับน้ำในหม้อน้ำ ได้เลย แต่ควรถ่ายน้ำในหม้อน้ำออกให้หมดเสียก่อน

 

อาการของรถยนต์เมื่อระบบหม้อน้ำมีปัญหา

ในการใช้รถยนต์ตามปกติขณะขับรถก็ควรหมั่นสังเกตุเข็มวัดความร้อน ปกติจะไม่เกินครึ่ง หากเกินครึ่งแสดงว่าเครื่องยนต์มีปัญหา ไม่ต้องรถให้ถึงขีดแดง ต้องรีบหยุดรถ เพื่อหาสาเหตุ หรืออาจจะต้องเรียกรถยนต์ เพื่อนำเข้าอู่หรือศูนย์ซ่อมรถ

 

การใช้น้ำยาเติมหม้อน้ำในรถยนต์เก่ากำลังซ่อม

สำหรับใครที่ซื้อรถยนต์เก่ามาใช้ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจซ่อม ก็สามารถตรวจดูระบบหม้อน้ำง่ายๆ ด้วยตัวเองได้ ด้วยการซื้อน้ำยาหม้อน้ำมาเติมผสมลงไปในหม้อน้ำ ไม่ต้องเติมทั้งหมด แค่นิดๆ หน่อยๆ ก็พอ แล้วเร่งเครื่องแรงๆ ให้คนช่วยดู ช่วยตรวจสอบหาจุดที่รั่ว

 

สรุป

รถยนต์มือสองที่มีอายุการใช้งานอย่างยาวนาน บางคันอายุเกิน 30 ปีก็มี ระบบท่อทางต่างๆ ที่น้ำจะต้องไหลเวียนผ่าน ท่อหรือข้อต่ออาจจะมีปัญหา ทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำ การเติมน้ำยาหม้อน้ำจะช่วยให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าน้ำรั่วซึมที่จุดใดบ้าง เพราะน้ำยาเติมหม้อน้ำจะมีสีเขียว รั่วซึมตรงจุดใด จะสังเกตุได้ไม่ยาก

 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า น้ำยาหม้อน้ำมีประโยชน์มาก ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่หรือรถเก่า จำเป็นต้องใส่น้ำยาเติมหม้อน้ำ ในรถใหม่ใส่ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสนิมหรือตะกรัน ในรถเก่าหรือรถมือสอง นอกจากการป้องกันสนิมแล้ว ก็ไว้ตรวจสอบรอยรั่ว รอยซึมของน้ำ เพราะรถไม่ได้สมบูรณ์เหมือนรถใหม่ แต่ก็ต้องเปลี่ยนถ่ายตามระยะเวลา เพื่อถ่ายน้ำยาที่เริ่มหมดสภาพออกไป เปลี่ยนของใหม่

 

Sponsored Ads