บทความนี้จะมาแนะนำแนวทางแก้ปัญหา กรณีผ่อนรถต่อไม่ไหว การขายรถมือสองติดไฟแนนซ์ยังผ่อนไม่หมด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากมีปัญหาการเงิน ไม่สามารถผ่อนต่อได้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องขายรถออกไปให้เร็วที่สุด เพราะเป็นหนี้ผูกพันระยะยาวและมีดอกเบี้ยเกิดขึ้นทุกวัน แต่การขายรถในลักษณะนี้ มีความซับซ้อนที่จะต้องคำนวณนี้ให้ละเอียดรอบคอบ
เหตุที่ทำให้ผ่อนรถไม่ไหว ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด งานการมีปัญหา ตกงาน หรือเกิดจากการไม่มีประสบการณ์ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าการผ่อนรถยนต์นั้นมีรายจ่ายมากกว่าที่คำนวณไว้ เงินเดือนที่คิดว่าน่าจะมากพอ แต่กลับไม่พอ หรืออาจจะตกงานในระหว่างกำลังผ่อนรถ จนสุดท้ายก็ไปไม่รอด ผ่อนไม่ไหว จนต้องตัดสินใจขายรถที่ยังติดไฟแนนซ์
แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อพบว่ามีปัญหาการเงิน ผ่อนรถต่อไม่ไหว
เมื่อมีปัญหาการเงิน ผ่อนต่อไม่ไหว และอาจจะต้องขายรถที่ยังติดไฟแนนซ์ ก็มีคำแนะนำตามลำดับดังนี้
คำนวณหนี้ค่างวดและค่าค้างชำระของรถทั้งหมด
คำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ค้างกับทางบริษัทไฟแนนซ์ เช่น
1. ค่างวดที่เหลือทั้งหมด เหลืออีกกี่งวด
2. รายจ่ายอื่นๆ ทั้งหมด เช่น ดอกเบี้ยกรณีจ่ายค่างวดล่าช้า ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้โทรสอบถามทางไฟแนนซ์
ตัวอย่างสมมุติ การผ่อนรถ Honda City
Honda City ราคา 649,000
ดาวน์ 20% 129,800
ผ่อน 6 ปี หรือ 72 งวดๆ ละ 8,423 บาท
รวมค่างวดทั้งหมด = 72 x 8,423 = 606,456 บาท
รายละเอียดการผ่อนรถ
สมมุติว่าได้ทำการผ่อนชำระไปแล้ว 24 งวด เป็นจำนวนเงิน 24 x 8,423 = 202,152 บาท เหลือเงินค้างค่างวด 72 -24 = 48 งวด เป็นจำนวนเงิน 48 x 8,423 = 404,304 บาท
วิเคราะห์การเงินของตัวเองและรีบตัดสินใจให้เด็ดขาด
เมื่อรู้ยอดเงินทั้งหมดที่เป็นหนี้รถเช่น 404,304 บาท และพบว่าตัวเองมีปัญหาการเงินอย่างปัจจุบันทันด่วน น่าจะผ่อนต่อไม่ไหว ให้รีบวิเคราะห์การเงินอย่างรอบคอบ เช่น
1. ราคาซื้่อขายรถในท้องตลาดอยู่ที่เท่าไร
2. มีเงินเก็บเหลือเท่าไร
3. ยังจะมีเงินเข้ามาอีกหรือไม่ จะยังคงผ่อนรถต่อไปได้สักกี่งวด
4. ถ้าตัดสินใจขายรถเพื่อปลดหนี้แล้วจะเหลือเงินประมาณเท่าไร ให้เผื่อไว้ว่าจะต้องน้อยกว่าที่คิดไว้สัก 4-5 หมื่นบาท เพราะมูลค่ารถจะไม่เป็นไปตามอย่างที่คิด โดยเฉพาะรถติดไฟแนนซ์ จะโดนกดราคาอย่างมาก
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตรงมาแล้ว เสียเงินให้กับการไปหาคนมาช่วยปิดไฟแนนซ์ไม่น้อยกว่า 50,000 บาท มันต้องทำ เพราะหาทางออกไม่ได้ ดังนั้นหากรวมเงินเก็บ เงินที่มี หักลบกลบหนี้รถออกไปแล้ว เหลือเกิน 50,000 บาท ก็จงรีบทำทันที การดิ้นหาทางออกเพื่อขายรถติดไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายหรือค่ากดราคา หันไปทางไหนโดน ทั้งนั้น
ถ้าวิเคราะห์แล้ว ผ่อนไม่ไหว หรือมีโอกาสเกิดปัญหา จะต้องรีบตัดสินใจให้เร็ว รีบขายรถให้เร็ว ก็จะมีเงินเหลือ และสบายใจในระดับหนึ่ง เพราะไม่มีหนี้แล้ว
หาข้อมูลราคารถที่ซื้อขายในท้องตลาด
เมื่อตัดสินใจขายรถ เพราะไม่สามารถผ่อนต่อได้อีกต่อไปแล้ว ก็เริ่มต้นหาข้อมูลราคารถที่ซื้อขายในเว็บไซต์ต่างๆ เช่น
1. หาข้อมูลรถที่ลงประกาศซื้อขายในท้องตลาด รถปีเดียวกัน สีเดียวกัน คุณสมบัติต่างๆ เหมือนกัน หาข้อมูลรถทั้ง 2 ประเภท ที่ลงประกาศขายคือ รถไม่ติดไฟแนนซ์ และ รถติดไฟแนนซ์
2. ให้ขับรถเข้าเต็นท์เพื่อให้เต็นท์ตีราคาว่ารถรุ่นนั้น รับซื้อที่ราคาเท่าไหร่ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าราคารถที่จะขายจริง หรือมูลค่ารถจริงๆ อยู่ที่เท่าไร การขายรถให้ได้ราคา หากไม่ใช่รถติดไฟแนนซ์ย่อมจะสามารถทำได้ มีเงินเย็น ก็ไม่เดือดร้อน แต่รถติดไฟแนนซ์เจ้าของรถมีปัญหา ก็ย่อมจะถูกกดราคา มูลค่ารถจริงๆ ไม่ได้ลด เพราะเป็นเรื่องปกติของพ่อค้ารถ เห็นคนขายเดือดร้อน ไม่มีทางออก ก็ต้องกดหนักๆ เอากำไรมากๆ
3. หากจะปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถ ให้สอบถามราคาว่าทางไฟแนนซ์จะตีราคาให้กี่บาท
สรุปในขั้นตอนนี้ จะต้องรู้ว่า รถคันนั้นมูลค่าจริงๆ อยู่ที่กี่บาท รถมีปัญหาในลักษณะนี้ราคาจะถูกกว่ารถปกติทั่วไป ถูกกว่า เพราะการตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสียเปรียบ ทำให้ไม่สามารถขายในราคาจริงของรถได้ เช่น ราคาจริงอยู่ที่ 450,000 บาท แต่เจ้าของรถผ่อนไม่ไหว มีค่างวดเหลือรวมทั้งหมด 404,304 บาท บางทีก็ต้องยอมปล่อยรถคันนั้นไป
วิเคราะห์การซื้อ ขายรถยนต์ติดไฟแนนซ์ อย่างละเอียด
เมื่อได้ราคารถยนต์รุ่นนั้นๆ ที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ราคาเต็นท์รับซื้อ หรือ ราคาที่ทางไฟแนนซ์ตีราคากรณีปล่อยให้ยึดรถแล้ว สิ่งที่จะ ต้องทำต่อไปก็คือการวิเคราะห์ราคาซื้อขายกันแบบเจาะลึก
กรณีที่ 1 ราคาซื้อขายรถแพงกว่าหนี้ค้างค่างวดไฟแนนซ์
1. สมมุติว่ารถรุ่นนั้นซื้อขายกันอยู่ที่ 420,000 ในขณะที่ค้างค่างวดไฟแนนซ์ทั้งหมด 404,304 บาท
2. คิดเป็นส่วนต่างประมาณ 420,000 - 404,304 = 15,696 บาท ถ้าหาเงินสดไปปิดไฟแนนซ์ได้ แล้วเอารถมาลงประกาศขายเอง ก็จะเหลือเงินประมาณนี้ ถ้าคนซื้อต้องการจัดไฟแนนซ์ก็อาจจะทำสัญญาไฟแนนซ์ใหม่ เปลี่ยนคนผ่อนก็สามารถทำได้
3. หากไม่มีเงินสดไปปิดไฟแนนซ์เพื่อขายรถเอง การขายผ่านเว็บไซต์อย่าง taladrod.com จะมีบริการปิดไฟแนนซ์ให้ด้วย ต้องติดต่อสอบถามรายละเอียด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ เพื่อปิดไฟแนนซ์ ส่วนผู้ซื้อสามารถทำเรื่องผ่อนได้ในวันเดียวเช่นกัน หากเอกสารพร้อม
4. ส่วนการนำรถไปขายให้เต็นท์ จะรับซื้อที่ราคาไม่ถึง 400,000 บาท การขายรถให้เต็นท์ไม่น่าจะสามารถทำได้ ผู้เขียนเคยเจอกรณี เดียวกันนี้ รถซื้อขายในท้องตลาดราคาประมาณ 350,000 บาท แต่ต้องจำใจขายให้เต็นท์เพียง 290,000 บาทเท่านั้นเอง โดยเต็นท์ไปปิดไฟแนนซ์ให้ และก็นำรถมาลงประกาศขายที่ใกล้เคียง 350,000 นั่นเอง เจ็บปวดใจที่สุด จนเข็ดขยาดการผ่อนรถเลยทีเดียว การเงินไม่มั่นคงพอ อย่าหาทำ ให้ชีวิตตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน
5. ส่วนการปล่อยให้บริษัทไฟแนนซ์ยึดรถ ห้ามทำอย่างเด็ดขาด เพราะไฟแนนซ์จะตีราคารถให้ต่ำที่สุด เช่นรถราคาซื้อขายอยู่ที่ 420,000 ค้างไฟแนนซ์อยู่ที่ 404,304 แต่ไฟแนนซ์อาจจะตีราคารถไม่ถึง 400,000 บาท ล้าน % รถ Honda City ของผู้เขียน ณ เวลานั้น รถซื้อขายในท้องตลาด 350,000 เต็นท์ยังรับซื้อแค่ 290,000 แต่ไฟแนนซ์จะตีราคารถถูกกว่าแน่นอน ไม่น่าเกิน 250,000 และยังคิดค่าดำเนินการ ค่าเสียผลประโยชน์ และอื่นๆ อีกเพียบ ดังนั้น ห้ามปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถเป็นอันขาด เพราะจะต้องจ่ายเงินให้ไฟแนนซ์อีกหลายหมื่นบาทหรืออาจจะถึงแสนบาทเลยทีเดียว
กรณีที่ 2 ราคาซื้อขายรถยน์ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าหนี้ค้างค่างวดไฟแนนซ์
กรณีนี้จะสร้างปัญหาให้กับเจ้าของรถอย่างมาก เพราะมูลค่ารถน้อยกว่าหนี้ที่ต้องจ่าย นั่นก็หมายความว่า รถคันนั้นไม่สามารถขายให้ใครได้ ยกให้ฟรีๆ ก็ไม่มีใครเอา นอกเสียจากต้องแถมเงินให้ด้วย
1. สมมุติว่ารถรุ่นนั้นซื้อขายกันอยู่ที่ 400,000 ในขณะที่ค้างค่างวดไฟแนนซ์ทั้งหมด 404,304 บาท
2. คิดเป็นส่วนต่างประมาณ 400,000 - 404,304 = -4,304 บาท กรณีนี้จะพบว่า ติดลบ ต้องแถมเงินให้คนซื้อรถด้วยอีกสีพันกว่าบาท เพราะยกให้ฟรีๆ ก็ไม่มีใครเอา ถ้าต้องเจอสภาพอย่างนี้ ก็ตัวใครตัวมัน ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ หาคนซื้อได้ให้ก่อน ตกลงราคา ทำสัญญา หากคนซื้อต้องการผ่อน ก็ให้หาไฟแนนซ์ ยื่นเอกสารให้ตรวจสอบ ถ้าผ่านแน่ๆ ทางผู้ขายก็หาเงินก้อน อาจจะยืมใครก็ได้ เพื่อเอาเงินก้อนไปปิดไฟแนนซ์ แล้วเอารถมาลงประกาศขาย น่าจะประหยัดเงินมากที่สุด
3. การขายรถผ่านเว็บไซต์ แม้บางเว็บจะมีบริการปิดไฟแนนซ์ แต่ก็เจ็บตัวอยู่แล้ว ก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องเตรียมเงินไว้จ่ายเพิ่มเติมด้วย เพราะมูลค่าหนี้สูงกว่าราคารถที่ซื้อขายในขณะนั้น ขายรถได้ก็จริง แต่ก็ยังไม่พอเคลียร์หนี้
4. การขายให้เต็นท์ ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะราคาซื้อขายในท้อง ตลาดอยู่ที่ 400,000 บาท เต็นท์จะซื้อไม่เกิน 350,000 บาทอย่างแน่นอน ยิ่งรถใหญ่เครื่องใหญ่ ด้วยแล้ว อาจจะรับซื้อประมาณ 300,000 เท่านั้น
5. ส่วนการปล่อยให้บริษัทไฟแนนซ์ทำการยึดรถ ไฟแนนซ์เอาอยู่แล้ว หมูมาขึ้นเขียงรอแบบนี้ ไม่ชำแหละ ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ไฟแนนซ์จะตีราคาถูกกว่าเต็นท์รถ จะได้ไม่ถึง 350,000 พร้อมกับคิดค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่าเสียผลประโยชน์ ดอกเบี้ย ค่าดำเนินการ ฯลฯ ก็น่าจะต้องจ่ายให้ไฟแนนซ์อีกน่าจะเกือบแสนบาท การปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถจึงห้ามทำอย่างเด็ดขาด
หมายเหตุ
มูลค่ารถที่ลดลงอย่างเร็วจนเหลือน้อยกว่าหนี้ที่ค้างค่างวดไฟแนนซ์ ก็มีเหตุมาจาก 2 กรณีด้วยกันคือ
1. การดาวน์น้อย แต่ผ่อนนานๆ แล้วรถคันนั้น ราคาตกเร็วมาก โดย เฉพาะในช่วง 1-2 ปีแรก ราคาอาจจะตกหลักแสนบาท เพราะการดาวน์น้อย ก็เลยทำให้ค่างวดสูง ค่างวดรวมทั้งหมดที่ต้องจ่ายทั้งปีน้อยกว่าราคารถที่ตกลงมา ก็จะทำให้รถมีมูลค่าน้อยกว่าหนี้ค้างค่างวดนั่นเอง การดาวน์น้อยจึงไม่ควรทำ หากการเงินยังไม่พร้อม อย่าเพิ่งซื้อรถ
2. การผ่อนรถที่ราคาตกเร็ว เช่น รถยุโรป รถเครื่องยนต์ใหญ่ๆ 1800 cc 2000 cc ขึ้นไป ราคาที่ตกเร็วมาก หากมีปัญหาการเงินในช่วงนั้น ก็ตายกันพอดี ดังนั้นก็ต้องหลีกเลี่ยงการผ่อนรถเครื่องยนต์ใหญ่ แม้จะเป็นรถยอดนิยมก็ตาม รถตลาดไม่นิยม ยิ่งดาวน์น้อยๆ ห้ามอย่างเด็ดขาด ไม่งั้นมีโอกาสเจ็บตัว หากมีปัญหาการเงินในช่วง 1-2 ปีแรกที่ผ่อนรถ
เรื่องต้องห้ามสำหรับการขายรถมือสองติดไฟแนนซ์
1. ห้ามขายรถให้บุคคลใดก็ตามโดยที่ยังไม่ได้ปิดไฟแนนซ์
อย่าขายรถและยกรถยนต์ให้คืนอื่นไปโดยที่ยังไม่มีการปิดไฟแนนซ์ แม้ว่าทางเต็นท์หรือผู้ซื้อจะแจ้งว่าจะดำเนินการปิดไฟแนนซ์ให้ก็ตามดังนั้นห้ามทำเด็ดขาด จะต้องไปปิดไฟแนนซ์ด้วยกัน เพราะผู้ขายเป็นคู่กรณีโดยตรงกับทางไฟแนนซ์ คนซื้อจะไม่สามารถดำเนินการแทนได้ และมีโอกาสสูงที่คนซื้อจะไม่ปิดไฟแนนซ์ ก็จะทำให้คนขายรถได้รับความเดือดร้อน
เพื่อนผู้เขียนขายรถให้เต็นท์ที่รู้จักกัน ซึ่งเป็นรถกระบะ โดยยังไม่ได้ปิดไฟแนนซ์ ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์คิดว่า ทางผู้ซื้อจะทำการปิดไฟแนนซ์ให้ ปรากฏว่า ผู้ซื้อซึ่งเป็นเต็นท์รถ นำไปขายต่ออีกที และคนที่ซื้อไปนั้น ก็เอาไปใช้ในไร่ในสวน โดยไม่มีการปิดไฟแนนซ์ ทำให้บริษัทไฟแนนซ์ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับเจ้าของรถ ก็ต้องจ่ายเงิน พร้อมทั้งค่าเสียผลประโยชน์ ดังนั้นห้ามปล่อยรถให้คนอื่นโดยที่ยังไม่ปิดไฟแนนซ์อย่างเด็ดขาด เจ็บตัวแน่นอน เพราะอาจจะนำรถไปชำแหละ ไปส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ
2. อย่าปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถเพราะมีรายจ่ายตามมามาก
อย่าปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดรถอย่างเด็ดขาด พยายามหาช่องทางขายเอง เพราะจะมีรายจ่ายตามมามาก เหตุผลก็ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น