เคสพาวเวอร์แบงค์ หรือ พาวเวอร์แบงค์สำหรับแอร์การ์ด ถูกออกแบบมาสำหรับแอร์การ์ดใส่ซิมกระจายไวไฟโดยเฉพาะมีร่องไว้เสียบ เข้ากันลงตัวไม่เกะกะเวลาพกพา เหมือนการนำพาวเวอร์แบงค์ทั่วไปมาใช้กับอุปกรณ์ตัวนี้ บทความนี้อยากจะมาแชร์การใช้งาน หลังผ่านไป 1 ปี ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แบตเตอรี่ยังเก็บไฟได้แค่ไหน

 

เคส Power Bank สำหรับแอร์การ์ด เมื่อเริ่มวางขายในช่วงแรกๆ จะมีไม่กี่ยี่ห้อ ตัวเลือกน้อย จึงมีราคาสูง รุ่นที่ผู้เขียนตัดสินใจซื้อมาใช้ก็คือ Esound ES-U6 ราคา 516 บาท (29 ม.ค.2565) ขณะนี้ ผ่านมาปีกว่าๆ (4 เม.ย. 2566) ราคาก็ยังอยู่ใกล้เคียงกัน เกิน 500 บาทขึ้นไป แบตเตอรี่ความจุ 5200 mAh

 

เคสพาวเวอร์แบงค์ รุ่นนี้ 5200 mAh ซื้อมาเมื่อ 29 ม.ค. 2565 จากของใหม่ 500 กว่าบาท ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง ผ่านไปประมาณ 1 ปี 2 เดือน ตอนนี้ใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้น

 

 

 4G Pocket Wifi Router แอร์การ์ดใส่ซิม ปล่อยเน็ต

 

ประสิทธิภาพแบตเตอรี่ลดลงไปประมาณ 50%

จากการวิเคราะห์การใช้งานของตัวเองอย่างละเอียดแล้ว พฤติกรรมการใช้งานของผู้เขียนมีส่วนทำให้แบตเตอรี่ของพาวเวอร์แบงค์ตัวนี้เสื่อมเร็ว เพราะแทบทุกวันจะใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง การใช้งานแบบนี้ จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วมาก ดังนั้นในระยะเวลาประมาณ 1 ปี 2 เดือน ยังใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ ก็ถือว่า แบตเตอรี่มีคุณภาพดีใช้ได้ 

 

ในการใช้งาน จึงไม่ควรใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง ควรเหลืออย่างน้อยสัก 1-2 ขีด หรือระดับไฟ 2 ดวง แล้วก็หยุดใช้งาน พร้อมกับนำไปชาร์จ ก็น่าจะช่วยให้แบตเตอรี่มีอายุใช้งานนานกว่านี้ เพราะหากผู้เขียนยังคงใช้งานจนหมดเกลี้ยงแทบทุกวันอย่างนี้ คาดว่า อีกไม่เกิน 6 เดือน ก็คงจะใช้งานไม่ได้แล้ว

 

ดังนั้นสำหรับใครที่คิดว่าจะหาซื้อพาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้มาใช้ ใช้งานทุกวันจนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง ก็พอจะคาดเดาได้ว่า หลัง 1 ปี 6 เดือน เป็นต้นไป ก็น่าจะเก็บไฟและใช้งานได้ไม่น่าจะเกิน 2 ชั่วโมงเท่านั้น หากต้องการยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานกว่านี้ ก็พอจะทำได้ นั่นก็คือ อย่าใช้งานจนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง เหลือไฟ 1-2 ขีด ก็ถอดแอร์การ์ดออก เตรียมหาที่ชาร์จได้แล้ว วิธีนี้ก็น่าจะยืดอายุการใช้งานไปได้สัก 2 ปี

 

การใช้งานตามปกติ ให้ใช้งานในลักษณะนี้ จะช่วยยืดอายุการใช้งานพาวเวอร์แบงค์ได้
1. กรณีมีที่เสียบ USB เพื่อจ่ายไฟได้ เช่น หัวชาร์จมือถือ ช่อง USB ในรถ ก็จัดการถอดแอร์การ์ดออกจากพาวเวอร์แบงค์ แล้วเสียบใช้งานกับอุปกรณ์เหล่านั้ เพื่อถนอมแบตเตอรี่ ดังนั้นหัวชาร์จมือถือ ต้องพกติดรถ หรือ สถานที่ที่ต้องไปบ่อยๆ 
2. เน้นเสียบแอร์การ์ดกับพาวเวอร์แบงค์ เฉพาะการเดินทางออกนอกสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าให้ใช้ และอย่าใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยงบ่อยๆ

 

พาวเวอร์แบงค์แอร์การ์ดราคาถูก

พาวเวอร์แบงค์แบบนี้เริ่มมีตัวเลือกที่ถูกกว่าขายอยู่หลายยี่ห้อ ก็มีความคิดเห็นส่วนตัวให้ผู้อ่านที่สนใจนำไปคิดและตัดสินใจเอาเองตามนี้
1. รุ่นที่ผู้เขียนซื้อมานั้น ราคา 500 กว่าบาทขึ้นไป ปัจจุบันยังราคาเท่าเดิม การใช้งานที่ผ่านมา ใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยง ผ่านไป 1 ปีกว่า แบตเตอรี่ใช้ได้ประมาณ 3 ชั่วโมง


2. รุ่นที่ราคาถูกกว่านี้ หากใช้แบตเตอรี่คุณภาพด้อยกว่า และผู้อ่านที่สนใจซื้อก็มีแนวโน้มใช้งานบ่อย และใช้จนแบตเตอรี่หมดเกลี้ยงเช่นกัน ก็มีโอกาสที่ หลัง 6-8 เดือน แบตเตอรี่ก็น่าจะเริ่มเสื่อมแล้ว อาจจะใช้งานได้สัก 1-2 ชั่วโมง

 

การเปลี่ยนแบตเตอรี่ของพาวเวอร์แบงค์

ส่วนใครที่ซื้อมาใช้งาน และพบว่าแบตเตอรี่เริ่มเสื่อมแล้ว เก็บไฟไม่อยู่ ก็สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่เองได้
1. แกะฝาหลังออก มีสลักล็อกอยู่ 6 จุดด้วยกัน หากทำเองไม่เป็น ก็ต้องพึ่งร้านซ่อมมือถือ


2. สั่งแบตเตอรี่ก้อนใหม่ ต้องการความจุมากแค่ไหน คราวนี้จัดการได้เต็มที่ ใครที่ซื้อรุ่นราคาถูกมาใช้ แบตเตอรี่เสื่อมเมื่อไร ก็สั่งแบตเตอรี่ใหม่มาเปลี่ยนได้เช่นกัน
3. หรืออาจจะหารังถ่านมา DIY ให้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่ายๆ จะไม่เสียเวลาเปิดฝาหลัง และชาร์จถ่านสำรองไว้หลายๆ ก้อน กรณีจะต้องเดินทางออกนอกสถานที่ไปนานๆ

 

สรุป

บทความนี้ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับใครที่เน้นใช้งานแอร์การ์ดไวไฟเป็นตัวกระจายสัญญาณ พาวเวอร์แบงค์แบบนี้ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะไม่เกะกะ แต่การใช้งานก็ไม่ควรปล่อยให้แบตเตอรี่หมดเกลี้ยงบ่อยๆ ก็จะใช้งานได้นาน แต่หากแบตเตอรี่เสื่อมแล้ว การหาซื้อถ่านแบบ 18650 มาเปลี่ยนเอง ก็ไม่ยาก แถมยังเลือกความจุได้ตามต้องการ

 

Sponsored Ads