กิเลสของคนเรา มีไม่จำกัด การมีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น จากที่คิดว่าน่าจะพอใช้ แต่มันจะไม่เคยพอใช้ ยิ่งมีมาก ความต้องการ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากจะใช้ อยากจะซื้อ บางที แม้ว่าจะไม่ได้ต้องการ แต่เครียด ไม่รู้จะทำอะไร ก็ใช้เงินจับจ่ายใช้สอยไปเรื่อย ทำให้เงินไม่พอใช้ในแต่ละเดือน ในบทความนี้จะมาแนะนำแนวทางควบคุมการใช้จ่ายให้พอใช้

 

มีหลายสาเหตุที่ทำให้คนเรามีพฤติกรรมใช้จ่ายมากขึ้น แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เคยพอใช้ หรือยิ่งมีเงินมาก บางที ไม่เพียงไม่พอใช้ แต่ยังเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีก เพราะเมื่อมีรายได้มาก มีหลักฐานการเงินดี ก็ย่อมจะสร้างหนี้ได้ไม่ยาก อย่างการผ่อนรถยนต์ สร้างหนี้ หลักแสน หลักล้านบาท

 

พฤติกรรมการใช้งานเงินของคนเราในแต่ละช่วงอายุ

คนเราโดยทั่วไปนั้นจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายมากน้อย ตามช่วงอายุ
1. วัยเด็ก อายุยังน้อย เมื่ออายุยังน้อย รายได้น้อย แต่ภาระ เหตุจำเป็นต้องใช้จ่ายก็น้อยตามไปด้วย ความอยากได้ อยากมี หรือความจำเป็นต้องใช้จ่ายน้อย ภาระน้อย
2. วัยเรียน เมื่อเริ่มโตขึ้นแต่ในวัยเรียน รายจ่ายก็ยังไม่มากนัก เว้นแต่จะเป็นช่วงปริญญาตรี บางคนจะมีรายจ่ายมากขึ้น เพราะสังคมที่กว้างขึ้น บางคนพ่อแม่ส่งเงินให้ใช้หลักหมื่นบาทต่อเดือน
3. วัยทำงาน จะเริ่มมีรายจ่ายมากขึ้น ตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ทั้งความจำเป็น และการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
4. วัยที่มีครอบครัย การมีครอบครัวจะมีรายจ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น

 

ตัวอย่างเหตุที่ทำให้เงินไม่พอใช้

การที่เงินไม่พอใช้นั้น เราจำเป็นต้องวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของเรา ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ใช้ของถูก ของแพง เปลี่ยนบ่อยหรือไม่ บางคนเปลี่ยนมือถือบ่อยๆ ต้องรุ่นใหม่เท่านั้น ฯลฯ ก็ส่งผลทำให้เงินไม่พอใช้
1. ตัวอย่างเรื่องอาหารการกิน
หากวิเคราะห์ให้ดีแล้ว ก็จะพบว่า มีความแตกต่างกันไม่น้อย ระหว่างการทำอาหารกินเอง หรือ การซื้ออาหารสำเร็จก็ตาม เช่น อาหารอย่างเดียวกัน ข้าวไข่เจียวง่ายๆ ทำกินเอง ต้นทุนไม่ถึง 20 บาท ซื้อสำเร็จที่ร้านอาหารตามสั่งประมาณ 40 บาท กรณีสั่งซื้อผ่านแอป ผ่านฟู้ดไรเดอร์ อาจจะเพิ่มเป็น 60 บาท บางคนเน้นสั่งผ่านแอป เพราะขี้เกียจเดินทางไปซื้อเองที่ร้านอาหาร บางเมนูมื้อเดียวต้องจ่ายเกิน 100 บาท วันละเกิน 200 หรือเดือนละเกิน 6000 บาท

อาหารแบบเดียวกัน แต่ความแพงก็เพิ่มขึ้นตามลักษณะของร้านอาหารที่เข้าไปใช้บริการ แม้จะใช้วัสดุดิบในการปรุงอาหารเหมือนกันกับร้านอาหารทั่วไป หรือแพงเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้น อย่างร้านกาแฟบางร้าน มีห้องแอร์ มีเน็ตให้บริการ ทำให้ลูกค้าที่มาใช้บริการนั่งนานมาก ทั้งมานั่งทำงาน นั่งรับแอร์เย็นๆ จึงทำให้อาหารและเครื่องดื่มมีราคาแพง เป็นต้น

2. ข้าวของเครื่องใช้
อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ จะเริ่มใช้จ่ายของแพงขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น จึงทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น

3. ยานพาหนะ
รถยนต์ จักรยานยนต์ จากที่ไม่เคยมี เมื่อมีรายได้มากขึ้น การซื้อรถยนต์จะมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ยิ่งเป็นรถใหม่ป้ายแดง ก็จะมีรายจ่ายมากขึ้น และบางคนก็เปลี่ยนรถยนต์บ่อย ต้องเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น รายจ่ายก็จะยิ่งมากขึ้น ที่สำคัญต้องเป็นหนี้อีกต่างหาก

4. การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
อาหาร ของใช้ ยานพาหนะที่จำเป็นจริงๆ จะไม่มีค่าใช้จ่ายสูงมากนัก แต่ที่มีรายจ่ายสูงมากขึ้น จนเงินไม่พอใช้ ก็เพราะการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องดื่ม การพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การท่องเที่ยว ฯลฯ รายจ่ายส่วนนี้ ไม่มีความจำเป็น แต่การใช้จ่าย อาจจะเป็นเพราะความเครียด ความเบื่อ ความเหงา อยู่คนเดียว ไม่รู้จะทำอะไร หรือ เพื่อการเข้าสังคม ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ก็เป็นรายจ่าย ที่ทำให้เงินเดือนไม่พอใช้ ทั้งสิ้น

5. การใช้จ่ายในครอบครัว
การใช้จ่ายไปกับครอบครัว เป็นรายจ่ายที่มากที่สุด เพราะเมื่อคนเราเริ่มมีครอบครัว ก็จำเป็นจะต้องใช้จ่ายไปเพื่อสร้างครอบครัว ซื้อบ้าน ซ์้อรถ แต่งงาน มีบุตรหลาน ยิ่งคู่สมรสที่มีรสนิยมสูงมาก ค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากตามไปด้วย ในขณะที่การมีลูกเมียบุตรหลาน ก็จะยิ่งมีรายจ่ายมากตามไปด้วย ตามกิเลสของลูกเมีย

เหตุที่ทำให้เงินไม่พอใช้ ยังมีอีกมาก และแต่ละคนก็จะมีรูรั่ว ที่เงินไหลออก คนละช่องทางต่างกันไป ดังนั้น จำเป็นจะต้องศึกษาพฤติกรรมของตัวเอง ศึกษาให้ละเอียด หาจุดอ่อนของตัวเองให้พบ เพื่อจะได้หาทางแก้ไข อุดรูรั่วเหล่านั้น

 

แนวทางแก้ไขปัญหาเงินไม่พอใช้

แม้จะมีรายได้มาก มีเงินเดือนเพิ่มมากขึ้น แต่กลับพบว่า เงินไม่พอใช้ ก็ต้องหาวิธีจัดการกับตัวเอง เช่น
1. เรื่องอาหารการกิน อาจจะทำอาหารกินเอง หรือ รู้จักเลือกซื้ออาหารที่ช่วยประหยัดเงิน อย่างการซื้อข้าวแกงตามตลาดสด การเดินทางไปซื้ออาหารที่ร้านเอง แทนการสั่งซื้อผ่านแอป แต่ละเดือนจะะช่วยประหยัดเงินอย่างมาก

2. ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ่อยๆ อย่างบางคนใช้ iPhone 6 รุ่นเก่ามากแล้ว ก็ยังใช้อยู่ ไม่คิดจะเปลี่ยน เพราะยังใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไร ประหยัดเงินหลักหมื่นบาท เมื่อเปรียบเทียบกับบางคนที่ต้องเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดเท่านั้น

3. ยานพาหนะต่างๆ ใช้รถเก่าก็ไม่เป็นไร ขอให้ดูแลให้อยู่ในสภาพดี ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ตลอดเวลา แต่ก็ต้องรับมือกับคำพูดของคนรอบข้าง ให้ดี เพราะจะมีพวกคอยแนะนำให้เปลี่ยนรถใหม่ ตามกระแสนิยม บางคนเห็นเก่ารถเก่าก็ชอบพูดจากดูถูก เยอะ ต้องตามให้ทัน และมีความเป็นตัวของตัวเอง หากทำได้จะช่วยประหยัดเงินหลักแสน หลักล้านบามเลยทีเดียว

4. การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เป็นรายจ่ายที่มาก และ ไม่มีความจำเป็น แต่เมื่อคนเรามีเงิน เชื่อเถอะว่า ผู้คนไม่น้อย มักจะมีความคิดแต่ อยากจะใช้ อยากจะซื้อ อยากจะ... ดังนั้น จำเป็นจะต้องตามพฤติกรรม ความคิดตัวเองให้ทัน และรู้จักยับยั้งชั่งใจ เมื่อคิดจะใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น เครียดก็อยากจะหาเครื่องดื่มเย็นๆ หรือ ซื้อ ช้อปปิ้ง เพื่อระบายความเครียด ความเหงา ยิ่งมีเงินมาก บางทีก็ยิ่งพลาดหนักมาก อย่างผู้เขียนเอง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ขับรถเฉี่ยวกับสิบล้อ เกิดความเครียดมาก กับค่าซ่อม ไม่รู้จะทำอะไร ไปเดินห้าง เดินไป เดินมา ก็ซื้อมือถือไปเครื่องหนึ่ง 7 พันกว่าบาท กลับมาถึงบ้าน ก็เกิดอาการงงๆ ว่า ซื้อมาทำไม

5. การใช้จ่ายไปกับครอบครัว แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องรายจ่าย ก็ต้องสอนคนในครอบครัว ให้รู้จักใช้จ่าย รู้จักใช้เงิน เห็นคุณค่าของเงิน ไม่เช่นนั้น รายจ่ายบานตะไทแน่นอน หากแต่ละคน ลูกเมีย บุตรหลาน พ่อแม่ ต่างพากันใช้งานอย่างไม่รู้คุณค่า มีเท่าไรก็ไม่พอใช้

 

สรุป

การที่เงินไม่พอใช้ แม้จะมีเงินเดือนมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น หากวิเคราะห์ให้ดีแล้ว จะพบว่า เงินมักจะหมดไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เสียมากกว่า ดังนั้นหากควบคุมตัวเองได้ ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะรูรั่วการเงินของคนส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ตรงนี้ หากใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ รายได้แต่ละเดือนพอใช้แน่นอน และยิ่งมีรายได้มากขึ้น ก็ย่อมจะมีเงินเก็บมากขึ้นเช่นกัน

 

Sponsored Ads