สำหรับผู้ที่กำลังจะไปสอบใบอนุญาตรถจักรยานยนต์ ท่านควรศึกษาและทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อน จะไปติดต่อกับทางกรมขนส่งหรือสำนักงานขนส่งในแต่ละจังหวัดเพื่อทำใบอนุญาตขับขี่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา แม้จะเตรียมเอกสารไปพร้อมๆ แล้วก็ตาม
ตัวอย่างข้อมูลเบื้องต้นที่ต้องรู้ก่อนจะไปติดต่อทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์
สถานที่ติดต่อเพื่อทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ มีที่ไหนบ้าง ท่านสามารถติดต่อทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ที่กรมขนส่งในกรุงเทพซึ่งมีหลายที่เช่น หมอชิตเก่า พระโขนง หรือหนองจอก หรือติดต่อได้ที่สำนักงานขนส่งในแต่ละจังหวัด ข้อมูลเชื่อมผ่านคอมพิวเตอร์ถึงกันหมด บางคนอยู่กรุงเทพแต่ไปติดต่อทำใบขับขี่ที่จังหวัดที่ประชากรน้อยๆ จะได้เร็ว เพราะในกรุงเทพคิวอาจจะยาวหลายเดือน กว่าจะได้อบรม กว่าจะได้สอบ อาจจะกินเวลานานเกือบครึ่งปีเลยทีเดียว
สนามสอบแต่ละแห่งเข้มงวดหรือมีท่าสอบไม่เหมือนกัน
สำนักงานขนส่งในแต่ละจังหวัด การติดต่อทำใบขับขี่ การอบรม การสอบภาคทฤษฎีจะเหมือนกัน แต่ภาคสนามขับรถทดสอบ อาจจะไม่เหมือนกัน การเลือกสนามสอบใกล้บ้านเป็นเรื่องดี สะดวก แต่หากคิวยาวมาก การเลือกสำนักงานขนส่งในจังหวัดอื่น ที่คนน้อย ประชากรน้อย ก็ย่อมจะดีกว่า เร็วกว่า
การติดต่อในครั้งแรกกับกรมขนส่งสำนักงานขนส่งต้องไปจองคิวก่อน
การติดต่อกับกรมขนส่งหรือสำนักงานขนส่งในแต่ละจังหวัดเพื่อทำใบอนุญาตขับขี่กรมขนส่ง ในวันแรก ครั้งแรก จะเป็นการไปเพื่อจองคิวเท่านั้น โดยจะต้องเตรียมเอกสาร เช่น 1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 2. ใบรับรองแพทย์ 3. บัตรประชาชนตัวจริง ในครั้งแรกจะเป็นการไปเพื่อจองคิวเพื่ออบรมเท่านั้น เนื่องจากจำนวนผู้สอบใบขับขี่ในปัจจุบันมีเยอะมาก ไม่ใช่ไปแล้วจะได้สอบทันทีเหมือนเมื่อสมัยเกือบสิบปีก่อน หลังจากจองคิวแล้ว ทางกรมขนส่งหรือสำนักงานขนส่ง จะนัดให้มาอบรม ซึ่งอาจจะกินเวลาหลายเดือนกว่าจะถึงคิวนัดหมายให้มาอบรมและสอบภาคปฏิบัติ การเลือกจังหวัดที่ประชากรน้อย จะได้คิวเร็วกว่า
การติดต่อเพื่อจองคิวสำหรับกรมขนส่งหรือสำนักงานขนส่ง บางแห่งสามารถจองทางโทรศัพท์ หรือผ่านเว็บไซต์ได้ ควรโทรศัพท์สอบถามทางเจ้าหน้าที่ก่อนจะเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เพราะแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน
ระหว่างรอวันนัดหมายตามคิว ต้องอ่านหนังสือคู่มือเตรียมตัวสอบใบขับขี
การนัดหมายเพื่อไปอบรมและสอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์ตามคิวที่ได้รับ อาจจะกินเวลาหลายเดือน ระหว่างนี้ให้หาซื้อหนังสือคู่มือสอบใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์หรืออาจจะดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตมาอ่าน ทำความเข้าใจ สำหรับข้อสอบทั้งหมดจะมี 1000 ข้อ จะสุ่มมาให้สอบ 50 ข้อ แนะนำให้อ่านข้อสอบทั้งหมด และจำคำตอบให้ได้ ผู้เขียนใช้วิธีนี้ ก็ผ่านได้ไม่ยาก ข้อสอบสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ต่างๆ รวมทั้งของกรมขนส่งเองด้วย
ในวันนัดหมายตามคิวที่ได้รับ จะเป็นการอบรมและสอบวัดความรู้
เมื่อถึงวันนัดหมายตามคิวที่ได้รับ ให้ไปติดต่อกรมขนส่งแต่เช้า ไปยื่นแสดงตัวตามนัดหมาย สำหรับกิจกรรมที่ต้องทำในวันนั้นก็จะมีการทดสอบสมรรถภาพเพื่อดูว่าจะสามารถขับรถได้หรือไม่ และอบรมกฏจราจร กติกา มารยาท ความรู้เรื่องการใช้รถใช้ถนน ในช่วงเช้าและช่วงบ่าย
หลังเวลา 15:00 ก็จะให้สอบวัดความรู้หรือสอบภาคทฤษฎี ข้อสอบทั้งหมด 50 ข้อ ท่านจะต้องผ่านอย่างน้อย 45 ข้อ (ในอนาคตจะเพิ่มจำนวนข้อสอบ หลัง เมษาย 2560) หากก่อนหน้าจะถึงวันนัดหมายอบรม ท่านได้หาหนังสือ คู่มือ มาอ่าน พร้อมทำข้อสอบทั้ง 1000 ข้อ มาเป็นอย่างดีแล้ว รับรองว่าสอบครั้งเดียวผ่านแน่นอน หากสอบไม่ผ่านก็จะนัดวันอบรมและวันสอบอีกครั้ง เสียเวลาพอสมควร
สิ่งที่ต้องทำหลังจากสอบวัดความรู้ผ่านแล้ว
เมื่ออบรมและสอบวัดความรู้เกี่ยวกับกฏจราจร การใช้รถ ความรู้เรื่องรถ มารยาทการใช้รถใช้ถนน ฯลฯ ก็จะได้รับใบนัดให้มาสอบภาคปฏิบัติ สอบขับรถมอเตอร์ไซต์จริงในสนามทดสอบ แนะนำให้หาโอกาสไปดูการสอบสักวัน เพื่อจะได้ศึกษาวิธีการทดสอบ เพราะการสอบถาคปฏิบัตินั้น น้อยคนจะสามารถสอบครั้งเดียวผ่าน
สำหรับรถจักรยานยนต์จะมี 5 ท่า แต่จะนิยมให้สอบเพียง 3 เท่าเท่านั้น คือ
1. การขับรถตามเครื่องหมายจราจร
2. การขับผ่านทางซิกแซก ผ่านกรวย
3. การขับบนทางแคบ ท่าสุดท้ายนี้เป็นท่าปราบเซียน บางคนมีอาชีพขับรถส่งของ แต่ต้องสอบท่านี้ถึง 4 รอบกว่าจะผ่าน
สิ่งที่ต้องทำในระหว่างรอให้ถึงวันสอบภาคปฏิบัติก็คือ การฝึกๆๆๆและก็ฝึกตามท่าที่ใช้สอบ อย่าได้ประมาท โดยเฉพาะการขับบนทางแคบนั้น การสอบครั้งแรกมักจะไม่ผ่านการทดสอบแทบทุกคน เพราะใช้เวลาอยู่บนทางแคบไม่ถึง 10 วินาที ต้องอยู่ให้นานไม่น้อยกว่า 10 วินาที บนรถระยะทาง 15 เมตร เฉลี่ยแล้ว จะต้องขับรถที่ความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่่านั้น ยากมาก
การสอบภาคสนามหรือภาคปฏิบัติเมื่อสอบวัดความรู้ผ่านแล้ว
ในวันสอบวัดความรู้ หากสอบผ่าน ก็จะได้รับใบนัดให้มาทำการสอบภาคปฏิบัติเพื่อขับรถตามท่าบังคับ โดยให้ไปฝึกขับตามท่าบังคับให้พร้อม แล้วจึงเดินทางมาสอบ วันไหนก็ได้ ภายใน 90 วันนับตั้งแต่ได้รับใบนัดหมาย สำหรับรถจักรยานยนต์จะมี 5 ท่า แต่จะนิยมสอบเพียง 3 เท่า สามารถศึกษาได้จากวิดีโอใน Youtube การสอบจะเริ่มช่วงเช้า 10:00-15:00 นาฬิกา ให้นำใบนัดสอบภาคสนามไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ เพื่อรับคิวเข้าทดสอบ เมื่อผ่านแล้ว ก็รับเอกสารไปติดต่อเพื่อทำใบอนุญาตขับขี่ได้เลย ใช้เวลาไม่นาน
ถ่ายภาพติดใบขับขี่หลังจากสอบภาคสนามหรือภาคปฏิบัติผ่านแล้ว
การสอบภาคสนามให้ไปยื่นขอสอบช่องก่อนเที่ยง เพราะหากสอบผ่านก็จะมีเวลาไปยื่นขอทำใบขับขี่ได้เลย ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานนัก เพราะคนสอบผ่าน จะไม่มากอย่างที่คิด คิวไม่ยาวมาก ทำบัตรเสร็จแล้ว ก็ชำระค่าธรรมเนียม เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
สิ่งที่ต้องทำเมื่อได้รับใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์แล้ว
สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องพกบัตรติดตัวตลอดเวลาเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ และไปต่ออายุบัตรเมื่อถึงใกล้หมดอายุ หลังจากได้ใบอนุญาตขับขี่ครั้งแรก จะมีอายุการใช้งาน 2 ปี หลังจากนั้น ให้ไปทำการต่ออายุ ซึ่งสามารถต่ออายุแบบ 5 ปี ได้เลย ไม่เสียเวลามาต่อทุกปี สามารถต่อได้ล่วงหน้า 60 วัน ไม่เช่นนั้นจะต้องสอบใหม่ เสียเวลา
ขั้นตอนการสอบใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์จะมีทั้งหมดคล้ายดังที่กล่าวมา แต่ทั้งนี้สำหรับกรมขนส่งหรือสำนักขนส่งใน
จังหวัดใหญ่ๆ ที่มีประชนชนมาติดต่อจำนวนมาก ขั้นตอนการทำงานอาจจะต่างไปจากที่กล่าวมา แต่การเตรียมตัวเพื่อสอบวัดความรู้ทั้่งภาคทฤษฎีและสอบภาคปฏิบัติจะคล้ายกัน แต่การสอบปฏิบัติบางแห่งอาจจะเข้มงวด ต้องสอบทุกท่า ต้องศึกษาข้อมูลจากแต่ละแห่งด้วย เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการดำเนินการ เพราะหลายคนไม่ได้ทำงานส่วนตัว ต้องลาหยุดงาน เพื่อมาติดต่อ