สูตรคำนวณ IF แอป Google ชีต ในมือถือ วิธีใช้งาน ก็ไม่ต่างไปจากการคำนวณในโปรแกรมยอดนิยมอย่าง Excel ใช้เพื่อคำนวณแบบมีเงื่อนไข เช่น คำนวณเกรด คำนวณ ค่านายหน้า ลงทุนเท่านั้น เท่านี้ จะได้กำไรเท่าไร หรือ อะไรก็ตาม ที่มีเงื่อนไข ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องเป็นอย่างนี้ หรือ ถ้าได้คะแนนเท่านี้ จะได้เกรดอะไร หรือ ทำยอดขายได้กี่บาท ต้องได้ค่านายหน้ากี่บาท เป็นต้น

 

แอป Google ชีต มีความสะดวกในการใช้งานมากกว่า Excel เพราะสามารถใช้งานผ่านมือถือได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่มีบัญชีของ Google อยู่แล้ว จึงสามารถใช้งานแอปนี้ได้ง่ายกว่า สะดวกกว่า แอป Excel เพราะใช้งานได้ทันที ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

 

ตัวอย่างการใช้ IF คำนวณเกรด

การคำนวณเกรด ก็จะใช้การสร้างเงื่อนไข เช่น
1. ถ้าคะแนนน้อยกว่า 50 เกรดจะได้ ไม่ผ่าน
2. คะแนน 50 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 60 ได้เกรด 1
3. คะแนน 60 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 70 ได้เกรด 2
4. คะแนน 70 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 80 ได้เกรด 3
5. คะแนน 80 ขึ้นไป ได้เกรด 4

6. ตัวอย่างการสร้างการคำนวณใน Google ชีต เพียงป้อนคะแนนลงไป เช่น 45, 55, 62, 78 .... ในคอลัมน์ C เกรด แอปก็จะใส่ตัวเลข เกรด ให้เอง อัตโนมัติ

 

ตัวอย่างการสร้างสูตร IF คำนวณเกรด

วิธีการคำนวณแบบนี้ อาจจะได้ใช้เฉพาะในกลุ่มคนที่ทำงานด้านการสอน แต่หากเข้าใจดีแล้ว ก็อาจจะนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะคนที่ทำกิจการ ต้องมีเรื่องการวิเคราะห์ตัวเลข เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าลงทุนเท่านี้ จะได้ผลตอบแทนเท่านั้น เท่านี้ ก็ใช้สูตร IF ได้เช่นเดียวกัน
1. พิมพ์ข้อความ และตัวเลขลงในเซลล์ต่างๆ ตามตัวอย่าง
2. เซลล์ C3 คลิกและพิมพ์ สูตร IF ตามนี้


=if(B3<50,"ไม่ผ่าน",if(B3<60,"1",if(B3<70,"2",if(B3<80,"3","4"))))

3. ความหมายของสูตร

B3 จะแทนตำแหน่งที่พิมพ์ตัวเลขคะแนน เช่น 45, 55, 62 .... จะไม่นำตัวเลขมาใช้โดยตรง ไม่เช่นนั้นจะคำนวณไม่ได้
if(B3<50,"ไม่ผ่าน" (ความหมาย ถ้าตัวเลขในเซลล B3 น้อยกว่า 50 เกรด จะได้ ไม่ผ่าน)
if(B3<60,"1" (ความหมาย ถ้าตัวเลขในเซลล B3 น้อยกว่า 60 เกรด จะได้เกรด 1)
if(B3<70,"2" (ความหมาย ถ้าตัวเลขในเซลล B3 น้อยกว่า 70 เกรด จะได้เกรด 2)
if(B3<80,"3" ( ความหมาย ถ้าตัวเลขในเซลล B3 น้อยกว่า 70 เกรด จะได้เกรด 3)
"4")))) (ความหมาย ถ้าตัวเลขในเซลล B3 ไม่เข้าเงื่อนไขใน 4 ข้อที่ผ่านมา จะได้เกรด 4 อาจจะใช้ในลักษณะนี้ก็ได้ if(B3>=80,"4")

สิ่งสำคัญในการใช้สูตรก็คือ วงเล็บเปิด ( ใช้กี่อัน วงเล็บปิด ) ก็ต้องใช้ให้เท่ากัน


4. เซลล์ C4 ถึงเซลล์สุดท้ายที่มีชื่อนักเรียน ก็ใช้สูตรแบบเดียวกัน เพียงแต่ต้องเปลี่ยนจาก B3 เป็น B4 ตามตำแหน่งของเซลล์นั้นๆ

 

 


5. การพิมพ์สูตรคำนวณ ไม่ต้องพิมพ์ทุกเซลล์ แต่ใช้การคัดลอกสูตร โดยชี้ที่จุดมุมล่างขวาของเซลล์ แล้วลากลงด้านล่างจนถึงเซลล์สุดท้ายที่มีข้อมูลที่ต้องการคำนวณ
6. ส่วนการใช้งานจริง ก็แนะนำให้สร้างเป็นแม่แบบ พิมพ์รายชื่อนักเรียนแต่ละห้อง แล้วทำสูตรคำนวณเอาไว้ ช่องคำนวณเกรด ใส่สูตร IF เอาไว้ แต่ช่องเกรด ยังไม่ต้องป้อนตัวเลข แล้วก็คัดลอกไฟล์แยกตามห้องไว้ใช้งานต่อไป

 

ใช้สูตร IF คำนวณค่านายหน้า

หัวข้อนี้จะพาไปลองใช้สูตรคำนวณ IF ที่ซับซ้อนมากขึ้น ด้วยการคำนวณการจ่ายค่านายหน้า จ่ายโบนัส หรือ เงินพิเศษที่ให้ลูกจ้าง
1. การคำนวณ สมมุติว่ามีเงื่อนไขตามนี้

คำนวณเงินจ่ายค่าโบนัสให้ลูกจ้าง โดยมีเงื่อนไขดังนี้

ยอดขาย ค่าโบนัสเพิ่ม
4999 0% (ถ้ายอดเงินได้น้อยกว่า 5000 หรือ ตั้งแต่ 4999 ลงมา จะไม่ได้โบนัส)
5000 5% (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 5000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 5% )
6000 6% (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 6000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 6% )
7000 7% (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 7000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 7% )
8000 8% (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 8000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 8% )

2. พิมพ์ข้อความลงไปในเซลล์ต่างๆ ตามตัวอย่าง
3. เซลล์ C21 พิมพ์สูตร

=if(B21<5000,B21*0%,if(B21<6000,B21*5%,if(B21<7000,B21*6%,if(B21<8000,B21*7%,B21*8%))))

4. ความหมายของสูตร

if(B21<5000,B21*0%, ความหมาย (ถ้ายอดเงินได้น้อยกว่า 5000 หรือ ตั้งแต่ 4999 ลงมา จะไม่ได้โบนัส)
if(B21<6000,B21*5%, ความหมาย (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 5000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 5% )
if(B21<7000,B21*6%, ความหมาย (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 6000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 6% )
if(B21<8000,B21*7%, ความหมาย (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 7000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 7% )
B21*8%)))) ความหมาย (ถ้ายอดเงินที่ได้ตั้งแต่ 8000 ขึ้นไป จะได้โบนัส 8% )

5. คัดลอกสูตรลงด้านล่าง ลากจุดที่มุมล่างขวาลงไปที่เซลล์ C26
6. กรณีตัวเลขยอดขาย เปลี่ยนแปลง โบนัสก็จะเปลี่ยนเช่นกัน


7. เซลล์ จำนวนลูกจ้าง สมมุติว่ามี 3 คน
8. เซลล์ E21 พิมพ์สูตร =C21/D21 (โบนัส หาร ด้วย จำนวนลูกจ้าง 3 คน)
9. จัดการคัดลอกสูตรเช่นเดียวกัน ถึงเซลล์ E26

 

สูตรคำนวณ IF ยังสามารถพลิกแพลงได้อีกหลายแบบ คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะมีโอกาสได้ใช้กันบ่อยนัก เว้นแต่คนทำงาน นักเรียน นักศึกษา ที่จะต้องศึกษาการใช้งานโปรแกรมตารางคำนวณอย่าง Excel หรือ Google ชีต โดยอาจจะเป็นวิชาที่ต้องเรียน ส่วนคนทั่วไป หากทำกิจการ ร้านค้า ก็จะมีโอกาสได้ใช้สูตรนี้ เช่น
- ทำร้านค้า อยากจะลงทุนบางอย่าง ก็อาจจะคำนวณ จำนวนลูกค้า ถ้ามีลูกค้าเท่านั้นเท่านี้ จะได้กำไรเท่าไร เป็นต้น

 

Sponsored Ads