ความหมาย : สำนวนนี้มักจะใช้พูดถึงคนสูงวัย คนมีอายุมาก เหมือน ไม้ใกล้ฝั่ง เปรียบเทียบเหมือนใกล้จะถึงที่ตายแล้ว จึงไม่อาจจะช่วยเหลือหรือฝากความหวังอะไรได้อีก หรือไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว นอกจากอยู่ไปวันๆ รอวันตาย
ตัวอย่าง :
ความแก่ชราของคนเราเป็นเรื่องธรรมชาติ แก่แล้วก็เหมือน ไม้ใกล้ฝั่ง ใกล้จะถึงที่ตายแล้ว แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร บางคนพอพบว่าตัวเองแก่แล้ว ก็จะไม่พยายามทำอะไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี เพราะร่างกายคนเราและสมองนั้น หากยังออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องให้เหมาะสมกับวัย ก็จะยังใช้งานได้จนแทบจะนาทีสุดท้าย หรืออาจจะตายอย่างสงบ โดยที่ไม่เป็นภาระใคร ก่อนตายถือว่ายังช่วยเหลือตัวเองได้เป็นปกติ
เมื่อเริ่มสูงวัย แก่ชรามากใกล้จะตาย เหมือน ไม้ใกล้ฝั่ง หลายคนจะเกิดความรู้สึกกลัวตาย หรือมีความคิดเหมือนเดิก ยิ่งแก่ ก็ยิ่งเหมือนเด็กน้อยเข้าไปทุกที บางคน 60 กว่า ก็คิอว่าตัวเองแก่มากแล้ว เริ่มไม่ยอมทำอะไร เรียกร้องความรักจากคนรอบข้าง ให้ช่วยเหลือตนเอง การกระทำแบบนี้ ไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและคนรอบข้าง ลองหาโอกาสคบหากับคนสูงวันกว่าตัวเอง หรือสูงวัยมากที่สุด ก็จะรู้วิธีดูแลตัวเอง บางคน 90 กว่าแล้วยังมีความสุขกับชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่มีปัญหาอะไร อายุมากแต่ยังดูแลตัวเองได้นั้นเป็นเรื่องน่าอิจฉา ซึ่งผลก็ย่อมมาจากการดูแลตัวเองนั่นเอง
พ่อแม่บางคนรู้สึกว่าตัวเองเริ่มแก่ชรามากแล้ว เหมือน ไม้ใกล้ฝั่ง ก็อาจจัดเตรียม แบ่งสมบัติ มรดก ต่างๆ ไว้ให้ลูกหลาน เพื่อจะได้ไม่ห่วง เมื่อต้องจากโลกนี้ไป แต่เรื่องความตายนั้น ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้า ดังนั้น การแบ่งสมบัติใดๆ ไว้เผื่อลูกหลาน ก็อย่าลืมเผื่อตัวเองด้วย แบ่งสมบัติแล้ว แต่ก็ไม่ตายสักที หากลูกหลานไม่เลี้ยงดู ก็ย่อมจะลำบากอย่างแน่นอน
การเตรียมรับมือกับความแก่ชรา อาจเป็นเรื่องที่สร้างความเครียด ความทุกข์ให้กับหลายคนที่ยังปล่อยวางไม่ได้ หรือยังมีห่วง มีเรื่องที่ยังอยากจะทำให้ ซึ่งคนอายุปูนนี้ก็เหมือน ไม้ใกล้ฝั่ง ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร การเข้าหาธรรมะ เข้าหาวัด จะช่วยให้ค้นพบทางออกที่ทำให้มีชีวิตอย่างสงบสุขก่อนจะจากโลกนี้ไป ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องรอจนแก่ แม้จะมีอายุยังน้อย ก็เริ่มศึกษาได้เช่นกัน ใครเข้าใจชีวิตก่อน คนนั้นก็จะมีความสุขเร็วกว่าคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ รู้จักปล่อยวาง