การวางแผนเรื่องเงินก่อนเกษียณ ไว้ใช้หลังเกษียณ ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนแม้จะมีเงินเก็บมาก หลักสิบล้านแต่กลับไม่พอใช้ หมดเสียก่อนในเวลาไม่กี่ปี ความผิดพลาดในเรื่องนี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ยากจะคาดเดาได้ และต้องศึกษาพร้อมลงมือทำควบคู่กันไป เช่น บางครอบครัวเริ่มมีฐานะ ลูกหลานก็ไม่ยอมทำงานเป็นเรื่องเป็นราว เพราะเห็นว่าพ่อแม่รวยแล้ว หากยังปล่อยไว้แบบนี้ อนาคต เงินเก็บหลังเกษียณของตัวเอง ก็อาจจะไม่พอใช้ ดังนั้นต้องทำอะไรสักอย่าง เป็นต้น

 

การวางแผนบริหารเงินก่อนเกษียณ เพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ มีปัจจัยหลายอย่างที่ยังมาไม่ถึง และอาจจะบริหาร วางแผนการเงินผิดพลาดได้ มีเงินเก็บหลักสิบล้าน ร้อยล้านก็อาจจะไม่พอใช้ ตัวแปรเหล่านี้มีหลายอย่างที่จะต้องศึกษาควบคู่และลงมือทำไปพร้อมกับการวางแผนเรื่องเงิน ให้มีเงินเพียงพอใช้หลังเกษียณ ป้องกันเหตุที่จะทำให้เงินหมดเสียก่อน หรือ สร้างปัญหาในภายหลัง เช่น

 

การแต่งงาน

การแต่งงาน จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ ทรัพย์สินต่างๆ ค่าสินสอด ฯลฯ ต้องเหมาะสมกับฐานะของอีกฝ่าย แต่หลักล้านต้องมา และเงินจะร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ตามสมาชิกในครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบ ต่างจากคนมีคู่อยู่แล้ว รายจ่ายจะน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต่างคนต่างก็วางแผนบริหารเงินรายได้ของตนเอง ไม่ให้เป็นภาระของอีกฝ่าย 

สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างก็คือ การเลิกรา สมบัติอาจจะถูกแบ่งเป็นหลายส่วน เพราะคนเราทุกวันนี้ เปลี่ยนคู่กันง่ายๆ 

 

ความประมาทในการใช้จ่าย

เมื่อมีเงินมาก ก็จะเกิดความประมาทในการใช้เงิน คิดอ่านไม่รอบคอบ และมักจะคิดว่า ยังเหลืออีกเยอะ เมื่อใช้เงินผิดทาง หรือผิดพลาด ดังนั้นจึงต้องศึกษาประสบการณ์ของผู้อื่นให้มากๆ และอย่าคิดว่าเรื่องเหล่านั้นจะไม่เกิดกับตนเอง หรือคิดว่า เอาอยู่ และฝึกการมีวินัยการใช้เงิน ฝึกการคิดให้รอบคอบใช้เงินให้คุ้มค่า ให้เป็นนิสัยติดตัว

 

นำเงินไปลงทุนในสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่มีความรู้

เมื่อมีเงิน ก็อาจจะนำเงินไปลงทุน หรือ คนรอบตัวที่รู้ว่ามีเงินก็อาจจะพยายามชวนลงทุน หรืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ฯลฯ เรื่องนี้สำคัญมากที่จะต้องระวังการลงทุนทำในสิ่งที่ตัวเองไม่มีความรู้ ความชำนาญ หรือ การนำเงินไปให้คนอื่นบริหาร ซึ่งบางคนก็จะเสนอข้อดีต่างๆ นานา ว่าจะต้องได้ผลกำไรเท่านั้น เท่านั้น บางทีอาจจะทำให้เงินที่เก็บไว้นั้นไม่เหลือก่อนเกษียณด้วยซ้ำไป ดังนั้นหากคิดจะทำอะไร ก็ควรศึกษาและลงมือทำ ก่อนจะเกษียณ เพื่อให้มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ เลือกงานที่ตัวเองชอบ อย่าไปลงทุนตามที่คนอื่นชวนหรือแนะนำ

 

การเจ็บป่วย

หากมีพฤติกรรมไม่ดูแลตัวเอง ไม่ดูแลสุขภาพ ก็ต้องเตรียมทำใจว่าอาจจะเจ็บป่วย มีค่ารักษาตามมา หรือ อาจจะมีคนใกล้ตัว สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย ทำให้ต้องเสียเงินหลักแสน หรือ หลักล้าน การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่เพียงตัวเองเท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบด้วย

 

บริเวร ลูกหลาน ไม่ทำงานทำการ

เมื่อเริ่มมีรายได้ มีเงินเก็บมา ก็ต้องดูพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาชิกในครอบครัว ลูกหลาน ญาติ พ่อแม่ พี่น้อง หากมีฤติกรรมไม่ยอมทำงาน ทำการ อย่างบางครอบครัว เห็นว่าพ่อแม่รวย มีรายได้มาก ก็ไม่ยอมทำอะไร ช่วยใช้เงินอย่างเดียว กรณีนี้หลังเกษียณ เงินก็อาจจะไม่เหลือ ดังนั้นก็ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้แต่ละคนเรียนรู้การรับผิดชอบตัวเอง ในเรื่องรายได้ รายจ่าย

 

การยุ่งกับสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง

การมีสัตว์เลี้ยง การปลูกดอกไม้ ต้นไม้ จะมีค่าใช้จ่ายตามมา มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนต้นไม้ สัตว์เลี้ยงที่มี บางคนลงทุนกับต้นไม้ไปหลักแสนบาท ปลูกเพียงเพื่อเอาไว้ชื่นชม ไม่เพียงเสียค่าใช้จ่าย แต่ยังเสียเวลาในการดูแลด้วยเช่นกัน

 

สิ่งปลูกสร้าง การสร้างบ้าน

บ้านหรือสิ่งปลูกสร้างจะมีรายจ่ายค่อนข้างสูง ตั้งแต่การซื้อที่ดิน การสร้างบ้าน รายจ่ายหลักแสนหลักล้าน ดังนั้นหากยังไม่มีบ้าน หรือ มีความคิดว่าจะสร้างบ้านใหม่ ก็ต้องวางแผนให้ดี เช่น 1. การปลูกบ้านเต็มพื้นที่ บางคนปลูกหลังใหญ่เต็มพื้นที่ มีหลายห้อง รองรับสมาชิกทุกคน แบบนี้อาจจะไม่เหมาะ เพราะเมื่อถึงเวลาลูกหลานแต่ละคนก็จะแยกตัวไปมีครอบครัว คนที่จะอยู่บ้านหลังนั้น อาจจะมีแค่คนเดียว บ้านหลังใหญ่เกินไป จะสร้างปัญหาในการดูแล และ อาจจะเป็นปัญหาในการแบ่งมรดก หากมีลูกหลานหลายคนไม่รู้จะแบ่งกันอย่างไร หรือหากมีปัญหาการเงิน การแบ่งที่ดินเพื่อขายจะไม่สามารถทำได้ 2. การปลูกบ้านชิดพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่ง เป็นเรื่องที่น่าจะดีกว่า หรือวางแผนเรื่องที่ดินเผื่อแบ่งให้ลูกหลาน หรือแบ่งขาย หากเกิดความผิดพลาดทางการเงินหลังเกษียณ 3. การปลูกบ้านหลังเล็ก เป็นตัวเลือกที่ดี ต่อให้มีลูกหลานหลายคน เมื่อถึงเวลาก็จะแยกกันไป บ้านหลังใหญ่จะมีรายจ่ายในการดูแลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะค่าไฟ การตัดหญ้า ตัดต้นไม้ การทำความสะอาด การซ่อมบำรุง เป็นต้น

 

ยานพาหนะ รถยนต์ จักรยานยนต์

รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นสิ่งที่จะต้องมีในแต่ละบ้าน การซื้อรถยนต์นั้นก็ต้องเลือกและวางแผนให้ดี จะใช้รถแบบใด ก็ต้องรู้ถึงรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นตามมาเช่น ซื้อรถยนต์ใหญ่เครื่องยนต์ใหญ่กินน้ำมัน สุดท้ายก็อาจจะไม่สามารถใช้งานได้ ต้องขายและซื้อคันใหม่ที่เครื่องยนต์เล็กลง ประหยัดน้ำมัน

 

เพื่อนผู้เขียนบางคนเน้น Accord, Camry สุดท้ายสู้ค่าน้ำมันไม่ไหว ไม่ใช่ว่าไม่มีเงินจ่าย แต่ไม่รู้ว่าจะเสียเงินจำนวนมากไปเพื่ออะไร หารถเล็กๆ มาใช้ ไปไหนก็ไปได้เหมือนกัน ทั้งประหยัดน้ำมัน บางคนใช้รถเล็กๆ อย่าง Jazz เมื่อเก่ามาก ขายไปแล้วก็ซื้อ Jazz เหมือนเดิม รายได้หลักแสนต่อเดือน แต่ก็ยังใช้รถเล็ก

 

บางคนก็เปลี่ยนรถบ่อยมาก ทุก 4-5 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดตลอดเวลา หากมีพฤติกรรมแบบนี้ เงินก็จะหมดเร็วเช่นกัน ซึ่งนอกจากตัวเองแล้ว หากมีสมาชิกในบ้านหลายคน แต่ละคนมีพฤติกรรมแบบเดียวกัน เงินเก็บหลังเกษียณจะหมดเร็วเช่นกัน

 

มีเงินเก็บมากต้องรู้ว่า ได้มาจากช่องทางใด

การมีเงินเก็บก่อนเกษียณเผื่อไว้ใช้หลังเกษียณนั้น จะต้องรู้ว่า เงินเก็บที่ได้มาจากทางไหน เช่น เล่นหุ้นได้ผลกำไร ขายที่ดิน ขายบ้านได้ราคา หรือ จากอัตราแลกเปลี่ยนจากการทำงานในต่างประเทศ หรือ เงินเก็บจากการทำงาน เงินเดือนมาก เก็บเงินได้มาก

 

เรื่องนี้มีความสำคัญ เพื่อให้รู้ว่าจะต้องต่อยอด หรือ นำเงินไปบริหารอย่างไร รู้จุดอ่อนของตัวเอง เพราะบางคนมีเงินมากแล้วประมาทจะลงทุนทำอะไร ก็คิดว่ามีเงิน ทำอะไรก็ต้องสำเร็จ บางทีก็ไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อรู้จักตัวเองดีแล้ว ก็เลือกที่จะเงินไปลงทุน ให้เกิดรายได้ ก็จะช่วยลดความผิดพลาดได้มากขึ้น

 

ให้ความสุขตัวเอง

การใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขให้ตัวเอง อาจจะใช้เงินค่อนข้างมาก เช่น บางคนจะต้องเที่ยวเมืองนอกปีละครั้ง โดยเฉพาะคนมีครอบครัวด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องวางแผนให้ดี บางคนมีคู่ที่ช่วยใช้เงิน เห็นว่าอีกฝ่ายมีรายได้มาก ก็ต้องช่วยใช้เงิน พาลูกหลานทำตัวหรูไปด้วย หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรม อนาคต เงินเก็บหลังเกษียณก็จะหมดเร็วเช่นกัน

 

เสียคนตอนแก่

ความเหงานั้นน่ากลัว คนที่ทำแต่งานมานาน หลังเกษีญฯ แล้ว อาจจะพลาดได้ กับการเที่ยวกลางคืน ทำตัวเสเพล เป็นแบ๊ดเฒ่าตอนแก่ การเสียคนตอนแก่ที่น่ากลัวก็คือ ความไม่มีประสบการณ์ และ ไม่เคยเที่ยวมาก่อน อาจจะพลาดท่าให้กับเพศตรงข้ามที่อ่อนกว่า ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีรายจ่ายหลักหมื่นหลักแสนตามมาแน่นอน

 

โดนหลอกลวงสารพัดวิธี

เมื่อมีเงิน ก็จะมีคนเข้ามาหลายรูปแบบ อย่างที่เห็นกันตอนนี้ ก็จะเป็นบรรดาคอลเซ็นเตอร์ทั้งหลาย แต่ก็ยังมีรูปแบบอื่นอีกมาก เช่น
1. การชวนเล่นหุ้น ชวนลงทุน ชวนสร้างรายได้ ในรูปแบบต่างๆ เอาผลกำไรสูงๆ มาล่อ
2. คนมีเงินก็เหมือนตู้ ATM ก็จะมีเพศตรงข้ามที่พยายามเข้าหา หวังจะจีบให้ได้ เพื่อจะได้กดเงินจากตู้ ATM หลงคำหวานก็อาจจะเสร็จ อย่างที่เป็นข่าวมาแล้ว มีให้เห็นไม่น้อย

 

สรุป

การวางแผนบริหารเงินก่อนเกษียณสำหรับผู้มีรายได้มาก ไม่ควรคิดถึงแต่เรื่องเงินด้านเดียว ต้องเรียนรู้ตัวเองให้มากๆ ต้องรู้จุดอ่อนหรือรูรั่วของตัวเอง ที่อาจจะทำให้เงินหมดเร็ว หลังเกษียณแล้วอาจจะใช้เงินหมดก่อนตาย เพื่อจะได้เตรียมรับมือ และหาทางแก้ไขตั้งแต่ก่อนจะเกษียณ ป้องกันปัญหาในอนาคต เช่น
- ลูกหลานไม่ยอมทำงาน ทำการ เพราะเห็นว่า พ่อแม่มีรายได้มาก รวยมากแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ ไม่เช่นนั้นเงินเก็บที่เผื่อไว้เฉพาะตัวเองคงจะไม่พอแน่นอน นี่ก็เป็นตัวอย่างการวิเคราะห์จุดอ่อนของตัวเอง และ หาทางแก้ไขก่อนจะเกษียณตัวเอง
- คนโสดก็เข้าหาธรรมะ ธรรมชาติ ใช้เพื่อช่วยขจัดความเหงา ไม่เช่นนั้น หลังเกษียณอาจจะเที่ยวกระจุย เงินกระจาย เสียคนตอนแก่ เพราะความเหงา เป็นต้น