บทความแนะนำความรู้เกี่ยวกับมุ้งแบบแขวน หรือ มุ้งกระโจม มุ้งแบบนี้มีความคลาสสิก เพียงแต่ก่อนจะหามาใช้งานนั้น จำเป็นจะต้องรู้จุดเด่น จุดด้อย คุณสมบัติ ให้ดีเสียก่อน เพราะได้มาแล้วอาจจะใช้งานไม่ได้อย่างที่คิด เพราะสภาพสถานที่ หรือ ที่นอน ไม่เอื้ออำนวย จะทำให้เสียเงินเปล่า

 

ผู้เขียนซื้อมุ้งแบบนี้มาแล้ว 3 หลัง จึงพอจะรู้ถึงข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เผื่อจะเป็นข้อมูลสำหรับมือใหม่ที่สนใจอยากจะได้มาไว้ใช้

 

คุณสมบัติเด่นของมุ้งแขวน

การรู้จักคุณสมบัติเด่นๆ ก็จะทำให้เรารู้ว่า มุ้งแบบนี้ เหมาะกับเราหรือไม่ หรือ ซื้อมาแล้วควรใช้งานแบบใด ตัวอย่างเช่น

 

ใช้การแขวนเพียงจุดเดียว

จุดแขวนของมุ้งอยู่ตรงกลาง มีเพียงจุดเดียว จึงต้องรู้ว่า
1. สถานที่ที่อยู่อาศัยนั้น ในห้องมีจุดที่สามารถแขวนได้หรือไม่ หรือ สามารถทำจุดแขวนในห้องได้หรือไม่ อย่างการอยู่ในหอพัก อาจจะไม่สามารถทำได้ สามารถผูกเชือกโยงเข้าหากัน เพื่อทำที่แขวนได้หรือไม่
2. การใช้ตะขอติดผนัง หรือเพดานเหนือเตียงนอน เป็นจุดยึดไว้กลางเตียงนอน ก็เป็นวิธีทำจุดแขวนมุ้งแบบง่ายๆ แต่กรณีเป็นหอพัก อาจจะโดนปรับ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน


3. กรณีใช้นอกบ้าน บริเวณบ้าน ในสวน จะสามารถแขวนตามต้นไม้ได้ ไม่เหมือนอยู่ในห้องที่เป็นตึก ที่จะต้องทำจุดแขวน ไม่ผูกถาวร เพราะเผื่อถอดมาซักทำความสะอาด
4. การมีจุดแขวนเพียงจุดเดียวจะไม่เกะกะเหมือนมุ้ง 4 หู
5. การนำมุ้งไปใช้งานนอกสถานที่ควรเตรียมเชือกยาวๆ ติดตัวไปด้วย เพื่อจะได้โยงเชือกเข้าหากันทำจุดแขวนมุ้ง

 

ขนาดความยาวของมุ้งแขวน

1. ขนาดความยาวของมุ้งมีผลต่อความสูงของผู้ใช้ มุ้งราคาถูกความยาวจะไม่มาก เช่น มุ้งขนาด 6 ฟุต ไม่เหมาะสำหรับคนมีความสูงเกิน 160 ซม. นอนคนเดียว หรือ เด็ก อย่างในภาพคือมุ้งที่ผู้เขียนซึ่งมีความสูง 173 ซม. ซื้อมาใช้งาน หัวและปลายเท้าติดตีนมุ้ง โดนยุงกัด เลือกความยาวไม่ต่ำกว่า 8 ฟุต จะได้มีพื้นที่ภายในมุ้งมากขึ้น และเผื่อสำหรับการแผ่ตีนมุ้งให้กว้างๆ จะช่วยกันยุงได้ดียิ่งขึ้น หรือ สามารถยกโต๊ะ เก้าอี้ ไปนั่งอ่านหนังสือ ทำงานข้างในได้ กรณีแขวนไว้นอกบ้าน
2. ความยาวของมุ้งตามที่โฆษณาต้องอ่านข้อมูล ดูตัวเลือกต่างๆ อ่านรีวิว หาข้อมูลให้ดีเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะได้มุ้งที่สั้นเกินไป ไม่เหมาะกับความสูงตัวเอง นอนแล้ว ศรีษะ ปลายเท้าติดมุ้ง

 

มุ้งแขวนแบบมีประตูและไม่มีประตู

เมืองไทยเป็นเมืองร้อน การใช้มุ้งจะช่วยกันยุง แต่หากเปิดพัดลม เพื่อช่วยพัดระบายความร้อน มุ้งแขวนที่มีประตูก็จะพริ้วไปตามแรงลม ประตูก็จะเปิด ยุงก็จะเข้าได้ มุงแบบนี้จึงควรใช้ในห้องที่มิดชิด และไม่มียุง ใช้เป็นของแต่งห้องไม่ได้เอาไว้กันยุง

 

การใช้มุ้งแขวนคลุมเตียง

การใช้มุ้งแขวนคลุมเตียงเพื่อช่วยกันยุง ใช้การแขวนเพียงจุดเดียวไม่เกะกะ แต่ต้องเลือกมุ้งที่มีความยาวมากพอ ต้องยาวคลุมพื้น หากไม่ยาวคลุมพื้น กรณีใช้พัดลม ก็จะสร้างปัญหาลมพัดมุ้งเปิด ยุงก็จะเข้าได้ วัดขนาดเตียงกว้าง ยาว สูง แล้วจึงสอบถามทางร้านก่อนสั่งซื้อ เพื่อให้ได้ขนาดที่เหมาะสม

 

จุดเด่น จุดด้อย เมื่อเทียบกับมุ้งแบบอื่น

มุ้งมีหลายแบบ เช่น มุ้งสปริง มุ้งพับ มุ้งแขวน มุ้ง 4 หู กรณีจะต้องใช้งานทุกวัน ต้องกางมุ้งนอน
1. มุ้งแบบ 4 หู เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เลือกขนาดให้เหมาะสม เช่น ที่บ้านมียุงมาก ไม่มีมุ้งลวด การใช้มุ้งขนาดใหญ่คลุมโต๊ะทำงาน โต๊ะอ่านหนังสือ จะไม่ทำให้เสียสมาธิ เพราะยุงรบกวน อย่างการนอนคนเดียวด้วยแล้ว ก็จัดไปให้ครบคลุมทั้งโต๊ะทำงาน ที่นอน
2. มุ้งแขวนทางเลือกรองลงมา ใช้งานคนเดียว คล่องตัวดี ไม่มีเชือกผูกมุ้งทั้ง 4 มุม เกะกะ แต่ต้องเลือกขนาดความยาวมากพอกับจำนวนสมาชิก นอนคนเดียว เลือกไม่น้อยกว่า 8 ฟุตไว้ก่อน กรณีเปิดพัดลม มุ้งจะพริ้วไปมา อาจจะแนบชิดตัว ทำให้ยุงกัดได้ มุงแบบ 4 หู จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
3. มุ้งสปริง เอาไว้ใช้เฉพาะโอกาส เช่น นอนท้ายรถกระบะ ไปบ้านเพื่อนฝูง แขกมาเยี่ยมมาพักที่บ้าน สะดวกไม่ต้องหาที่ผูกมุ้ง หรือไปไหนไกลและต้องค้างคืนก็พกติดรถไปด้วย มุ้งแบบนี้กางแล้วเปิดพัดลม ลมไม่พัดมุ้งพริ้วไปมา เหมือนมุ้ง 4 หู หรือ มุ้งแขวน แต่มีขนาดใหญ่กว่าแม้จะพับเก็บแล้ว