Sponsored Ads

การวางแผนซ่อมรถมือสองที่ได้ซื้อมาอย่างเป็นระบบ อะไรก่อน หลัง จัดระบบการซ่อมให้ดี จะช่วยประหยัดเงินค่าซ่อม และได้รถที่มีสภาพดีใช้งานได้อีกนาน ใช้รถอย่างสบายใจ รถมีปัญหาอะไร ก็หาสาเหตุได้ไม่ยาก รถมือสอง หากขับไปซ่อมไป จะสร้างปัญหาปวดหัวแน่นอน สำหรับมือใหม่ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร บทความนี้อาจจะเป็นแนวทางให้ท่านได้

การวางแผนการซ่อมรถยนต์มือสอง จะต้องทำ 2 ขั้นตอนนี้ก่อน คือ
1. ศึกษาข้อมูลการซ่อมบำรุงรถยนต์ยี่ห้อและรุ่นนั้นๆ รวมทั้งราคาอะไหล่ ที่จะต้องเปลี่ยน มีอะไรบ้าง ราคาแพงมากน้อยเพียงใด ในเน็ต ในเฟสบุ๊ค หาข้อมูลได้ไม่ยาก เพื่อให้รู้ว่ามีค่าซ่อมอะไรบ้าง มีอะไหล่ชิ้นไหนแพงเป็นพิเศษหรือไม่ อย่างรถบางรุ่นอะไหล่บางชิ้นแพงมาก ไม่น้อยกว่า 80,000 บาท สำคัญมาก รถรุ่นนั้นมีรายการซ่อมที่จุกจิก ซ่อมไม่จบหรือไม่


2. ศึกษาอู่ซ่อมบำรุงใกล้บ้าน อู่เฉพาะของรถยนต์รุ่นนั้นๆ แต่รถมือสอง หากเป็นยี่ห้อ ไม่นิยม ต้องการอู่เฉพาะกลุ่ม ก็ไม่ควรซื้อตั้งแต่แรก จะมีปัญหาตามมาเยอะ อะไหล่ หายาก อู่ทั่วไป ไม่เก่ง ซ่อมไม่จบ หรือ ไม่สามารถหาอะไหล่ได้ ช่างไม่อยากทำ ยุ่งยาก เสียเวลา 

 

การวางแผนซื้ออะไหล่สำหรับการซ่อม

การวางแผนซ่อม หากมีงบมากพอ ก็จัดการไปคราวเดียว หรือให้ทำไปทีละจุดตามงบประมาณ โดยต้องซื้ออะไหล่เอง
1. หาอู่เพื่อพูดคุยตกลงเกี่ยวกับการซ่อมก่อน เน้นให้อู่คิดค่าแรง ส่วนอะไหล่จะซื้อเอง
2. ศึกษาการซ่อมแต่ละจุด ช่วงล่าง เครื่องยนต์ ระบบแอร์ และซื้ออะไหล่เอง จะประหยัดเท่าตัว ซ่อมระบบใด ก็ซื้อทั้งหมด เหมามาให้หมด ร้านขายอะไหล่หลายร้าน ให้เปลี่ยนได้ หากไม่ได้ใช้ ไม่ได้แกะ หรือ ไม่ตรงรุ่น ถ้าให้อู่เป็นผู้จัดการก็จะบวกเพิ่มอีก เช่น น้ำมันเกียร์กระป๋องละ 90 อาจจะบวกเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 180 บาท การซ่อมในบางรายการที่มีชิ้นส่วนมาก มีราคาสูง ก็จะบวกราคาเพิ่มทุกชิ้น นี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้ค่าซ่อมแพง

 

การซ่อมรถยนต์มือสอง จะวุ่นวายเสียเวลาแค่ช่วงแรกที่ได้รถมาเท่านั้นเอง โดยเฉพาะรถที่ไม่มีประวัติการซ่อม หลังจากซ่อมใหญ่เสร็จแล้ว ก็ทำประวัติการซ่อมเอาไว้ คราวนี้ก็เน้นซ่อมตามระยะทาง เหมือนการดูแลเหมือนรถใหม่ป้ายแดง

 

การเลือกอู่สำหรับซ่อมรถมือสอง

การเลือกอู่สำหรับการซ่อมรถมือสองเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องศึกษา อู่มีหลายแบบ การคิดค่าบริการแตกต่างกันไป บางอู่แพงถึงแพงมากบางอู่ก็ถูกกว่า ประหยัดกว่า จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องอู่ให้เข้าใจอู่รถซ่อมรถยนต์มือสองมีหลายแบบ ทั้งศูนย์รถ อู่ทั่วไป อู่นอก อู่เฉพาะทาง ฯลฯ แต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไปเช่น

 

การซ่อมศูนย์รถยนต์ยี่ห้อนั้นโดยตรง

1. การซ่อมรถกับศูนย์ เช่น ศูนย์ Toyota, Honda, Nissan ฯลฯ จะมีระบบระเบียบการซ่อม โดยเน้นการเปลี่ยนเป็นหลัก เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนชิ้นต่างๆ เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด แต่จะไม่ซ่อม เน้นเปลี่ยนอย่างเดียว ซึ่งบางครั้ง การวิเคราะห์อาการที่ผิดพลาดก็ทำให้ต้องเสียเงินจำนวนมาก โดยทางศูนย์มักจะไม่รับผิดชอบ
2. การซ่อมศูนย์ ค่าอะไหล่ ไม่มีการบวกเพิ่ม แต่จะคิดค่าแรงเพิ่มตามจุดที่จะต้องซ่อม เช่น การเปลี่ยนบังโคลนซุ้มล้อหน้าของรถยนต์ทั้งซ้ายและขวา จะมีค่าแรงในการเปลี่ยนด้านละ 100 บาท รวม 200 บาท แต่การใช้บริการอู่นอก อู่ประจำของผม เปลี่ยนกรองน้ำมันเครื่อง ถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนกรองอากาศ ซื้ออะไหล่ไปเอง คิดค่าแรง 50 บาท ถูกมากกกก
3. ลูกค้าต้องนั่งรอที่ห้องรับรองแขกอย่างเดียว ไปเดินดูการซ่อมไม่ได้ แต่อู่นอกเดินดูได้ อู่เล็กๆ ช่างคนเดียว อาจจะได้ช่วยงานช่างได้ความรู้ไปด้วย
4. การซ่อมรถยนต์มือสองกับศูนย์ หากเป็นการเปลี่ยนอะไหล่หลายรายการ จำเป็นต้องปรึกษาสอบถามก่อน เพราะสามารถคำนวณได้ทันทีว่ามีค่าซ่อม ค่าแรง รวม Vat 7% แล้ว เป็นจำนวนเงินเท่าใด
5. การซ่อมในศูนย์รถยนต์เหมาะสำหรับการซ่อมที่รู้อยู่แล้วว่าอะไรเสีย รู้ว่าอะไหล่ตัวใดที่ต้องเปลี่ยน หรือรถยังอยู่ในประกัน หรือยังผ่อนอยู่ หรือเพื่อทำประวัติเพื่อให้ขายต่อง่าย แต่อาจจะไม่เหมาะหากมีปัญหาที่ยังหาสาเหตุไม่ได้
6. การตรวจเช็ครถ ตรวจดูระบบต่างๆ หรือมีรายการต้องทำจำนวนมาก กรณีนี้การคิดค่าแรงของศูนย์จะโหดกว่าอู่นอก เช่นได้รถยนต์มือสองมาแล้ว ก็ขับเข้าศูนย์ ให้ศูนย์ตรวจดูทั้งด้วยตา ด้วยเครื่องว่า มีอะไรต้องเปลี่ยนบ้าง ทุกจุดที่ช่างตรวจสอบ จะคิดค่าแรง + Vat แยกกัน ตรวจทั้งคัน อาจจะต้องจ่ายหลักพันบาท

 

ผู้เขียนเคยซื้อรถมือสองเป็นซูซูกิ สปอร์ตตี้ เอาเข้าศูนย์ของซูซูกิ โดยให้ทางตรวจสอบอย่างละเอียดว่า มีอุปกรณ์อะไรมีปัญหาบ้าง หมดไป 4 พันกว่าบาท เป็นค่าตรวจสอบเกินครึ่ง ซึ่งแพงเกินไป การตรวจสอบส่วนใหญ่ก็คือการดูด้วยตา หมดไป 2000 กว่าบาท

 

การซ่อมรถมือสองกับอู่นอก

อู่นอกมีหลายแบบ อาจจะเป็นอู่เฉพาะสำหรับรถยนต์แต่ละยี่ห้อ หรือรวมๆ ซ่อมทุกยี่ห้อ
1. การเลือกอู่นอกมีข้อดีหลายอย่าง หากสนิทกันแล้ว ก็จะยินยอมให้เราถ่ายรูปได้ เดินดูงานซ่อมได้ เป็นเรื่องดี เพราะเราสามารถนำรูปไว้ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ไว้ทำบทความแนะนำการซ่อม แชร์ประสบการณ์ หรือไว้ใช้เวลาขายรถยนต์ของเราให้คนอื่น เพื่อให้รู้ว่ารถเราได้ทำอะไรไปบ้างรถยนต์ที่มีประวัติการซ่อมจะขายง่ายกว่า เพราะคนซื้อรู้ว่าเราได้ทำอะไรกับรถไปบ้าง

2. อู่นอกบวกราคาอะไหล่ประมาณเท่าตัว + ค่าแรง บางอู่นั้นก็โหดเอาเรื่อง เช่น อู่ Honda อู่นอก เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ ปกติกระป๋องละ90 บาท ก็บวกราคาน้ำมันเกียร์เพิ่มไปอีกเท่าตัว เป็น 180 จำนวน 2 กระป๋องรวม 360 บาทและคิดค่าแรงอีก 200 บาท โหดไหม บางอู่เจ้าของเคยทำงานอยู่ศูนย์ แล้วออกมาทำเอง อาจจะมีคำพูดที่สวยหรูว่า เราทำงานใช้ระบบเดียวกันกับศูนย์ ระบบที่ว่าก็คือการคิดค่าแรง แต่ละจุดที่ทำ จะคิดค่าแรงเหมือนศูนย์ แต่ที่เพิ่มเข้ามาแบบโหดๆ ก็คือการบวกเพิ่มค่าอะไหล่ที่แพงกว่าศูนย์ สรุปว่า ไปเข้าศูนย์ดีกว่า นอกเสียจากจะเจอปัญหาใหญ่ที่ศูนย์ซ่อมไม่ได้ อู่นอกอาจจะเก่งกว่า

3. ซ่อมอู่นอกต้องหาอะไหล่เอง การซ่อมอู่นอก อู่ทั่วไป เรื่องอะไหล่ สำคัญมากต้องหาซื้อเองให้ได้ ยิ่งต้องเปลี่ยนหลายรายการ ก็ต้องซื้อเอง เพราะจะถูกบวกเพิ่มค่าอะไหล่ประมาณเท่าตัวรวมค่าแรงแล้ว แพงกว่าที่คิด อู่นอกหลายแห่งจะแสดงอาการไม่แฮปปี้ทันที หากเรามีอะไหล่ไปเอง เพราะบวกเพิ่มค่าอะไหล่ไม่ได้ ดังนั้นต้องคุยกันก่อน ว่าเรามีอะไหล่ จะเต็มใจรับซ่อมหรือไม่ จะเหมาหรือซ่อมอย่างไร ก็ตกลงกันก่อน

4. อู่นอกจะมีอู่เฉพาะทาง ซ่อมเครื่องยนต์ ซ่อมช่วงล่าง ซ่อมหม้อน้ำ ซ่อมแอร์ เป็นต้น ให้เข้าอู่เฉพาะทางให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการทำ นอกจากนี้ก็ต้องดูว่า อู่นั้นๆ ซ่อมเองโดยตรงหรือจ้างอู่อื่น อีกที เช่น
- อู่ซ่อมช่วงล่าง ทำแม็ก เบรค ช่วงล่าง บางอู่จะไปจ้างร้านทำแม็ก ร้านซ่อมโช้ค อีกที บวกค่าแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องหาอู่ที่ซ่อมโดยตรงจะประหยัดกว่า
- ซ่อมซ่อมหม้อน้ำ ไม่ได้ซ่อมเองโดยตรง แต่จ้างอู่อื่นทำหม้อน้ำอีกที กรณีนี้ค่าแรงก็แพงกว่าจ่ายสองต่อ เช่นกัน

5. อู่นอก มีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก เจ้าของคนเดียว มีสมาชิกในครอบครัวช่วยกัน และอู่ขนาดกลาง มีลูกน้องบ้าง 2-3 คน และอู่ขนาดใหญ่ แต่ละอู่จะคิดค่าแรงต่างกัน เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อเอาไปจ่าย ค่าแรงลูกน้อง จ่ายค่าเช่า ฯลฯ การหาอู่เล็กๆ เจ้าของคนเดียวเหมาค่าแรงในการซ่อมจะประหยัดมากกว่า แต่อู่แบบนี้ก็หาได้ไม่ง่ายนัก และอาจจะต้องรอคิวยาว เพราะบางคนรับงานเดือนละไม่กี่คันเท่านั้น

 

การซ่อมรถกันเองในชมรมรถยนต์

การใช้รถยนต์มือสองควรหาชมรม เพราะบางชมรมนั้น สมาชิกสามารถซ่อมรถกันเองได้ ค่าใช้จ่ายก็ประหยัดกว่า และได้ความรู้เกี่ยวกับรถด้วย เพราะสามารถสอบถาม พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างเต็มที่

 

การจัดทำประวัติการซ่อมบำรุงรถยนต์มือสอง

หากต้องการใช้งานรถยนต์มือสองอย่างสบายใจ ให้จัดทำประวัติการใช้งานและการซ่อมบำรุง จดบันทึกทุกอย่างไว้ด้วยตนเอง โดยอาจจะใช้ตารางซ่อมบำรุงรถยนต์ใหม่เป็นแนวทางก็ได้

 

ตัวอย่างค่าซ่อมบำรุงรถใหม่ Honda City ในระยะทาง 100,000 กิโลเมตร


ตัวอย่างการซ่อบำรุงรถใหม่ Honda City ในระยะทาง 200,000 กิโลเมตร

 

การศึกษาวิธีการซ่อมบำรุง ดูแลรถยนต์มือสองด้วยตัวเอง

การดูและรถยนต์มือสอง รวมทั้งการซ่อมบำรุง ก็มีหลายชิ้นส่วนที่เราสามารถทำเองได้ หรือ ดูแลรถเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา เช่น
1. ดูแลลมยางให้ได้ตามมาตรฐานของรถยนต์รุ่นนั้นๆ หากลมยางไม่เท่ากัน รถเอียง ยางก็จะสึกไม่เท่ากัน ส่งผลทำให้ยาง โช้ค ลูกหมากเกิดปัญหาได้ เป็นต้น การเติมลมยางนั้นหากเป็นรถเล็กๆ รถเก๋งเล็ก ใช้ที่สูบลมจักรยานที่มีค่า PSI สูงๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ไม่ต้องเสียเงิน เสียเวลาไปเติมที่ปั๊ม
2. แบตเตอรี่ให้ใช้แบบเติมน้ำกลั่นได้ หากระดับน้ำกลั่นลดลง ไฟจะเริ่มไม่พอ เมื่อเติมน้ำกลั่นก็จะกลับมาใช้งานได้ แบตแบบแห้งอายุการใช้งานจะน้อยกว่าแบบเติมน้ำกลั่นได้
3. การหมั่นดูแล หม้อน้ำ ตรวจดูไม่ให้น้ำแห้ง เปลี่ยนถ่ายน้ำในหม้อน้ำ ก็จะทำให้ระบบระบายความร้อนทำงานได้เป็นปกติ เครื่องยนต์ก็จะยากจะเกิดปัญหา
4. การดูแลระบบแอร์ ตรวจดูว่า ความเย็นลดลงหรือไม่ ถ้าลดลง ก็ต้องตรวจสอบระดับน้ำยาแอร์ เพื่อป้องกันปัญหาใหญ่ ตามมาหากต้องซ่อมแอร์ทั้งระบบ

 

รายการซ่อมเพิ่มเติมที่ไม่ได้กล่าวถึง

นอกจากรายการที่ว่ามาแล้ว ยังมีรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเช่น
1. การสลับเปลี่ยนยางทุก 10,000 กิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายต่อครั้ง
2. การเปลี่ยนยางรถยนต์ทุก 50,000-80,000 กิโลเมตร
3. การเปลี่ยนสายพานทามมิ่งทุก 100,000 กิโลเมตร ยกเว้นบางรุ่นจะใช้โซ่ ไม่ต้องเปลี่ยน
4. การตรวจสอบระบบแอร์ น้ำยาแอร์
5. การซ่อมในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
6. การซ่อมบำรุงกรณีใช้งานหนัก ขับรถระยะทางไกลหรือใช้งานมากกว่าปกติ จะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเร็วขึ้น