การหารถกระบะสักคันในงบประมาณ 50,000 บาท มีตัวเลือกหลายยี่ห้อหลายรุ่น แต่ก็ต้องมีความเข้าใจในสภาพรถและจุดประสงค์ที่ตัวเองต้องการใช้งาน จะซื้อมาใช้เพื่ออะไร ใช้นานแค่ไหน เพราะราคาประมาณนี้ ส่วนใหญ่จะต้องซื้อมาแล้วต้องซ่อมบำรุง เพื่อให้สามารถใช้งานได้นานๆ บทความนี้จะพาเจาะลึกรถกระบะแบบต่างๆ เพื่อจะได้เลือกรถที่ตรงความต้องการมากที่สุด
รถกระบะตอนเดียวนั้นเป็นรถที่ตลาดต้องการ คนทำมาหากิน ชาวไร่ ชาว สวน แม่ค้า คนทั่วไป จำเป็นต้องใช้รถแบบนี้ไว้สำหรับการบรรทุก ขนของ รถแบบนี้มีไว้จะไม่ขาดทุน หากเป็นยี่ห้อยอดนิยม รุ่นยอดนิยมด้วยแล้ว ขายต่อไม่ยาก ระวังหายอย่างเดียว ติดสัญญาณกันขโมยไว้จะดีมาก นี่คือเรื่องจริง รถแบบนี้โจรก็ต้องการ
ตั้งวัตถุประสงค์ในการซื้อรถกระบะ
จุดประสงค์ในการซื้อรถกระบะในงบประมาณนี้ แต่ละคนก็ต้องมีแผนการใช้งานรถต่างกันไป เช่น
1. การใช้รถกระบะเพื่อขนของชั่วคราว
หากต้องขนของหลายรอบ การเช่ารถหรือจ้างรถบรรทุก อาจจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่การซื้อรถกระบะที่สามารถใช้งานได้ ซื้อมาเพื่อภาระกิจขนของสักพักแล้วก็ขาย กรณีนี้ก็จะเสียเฉพาะค่าน้ำมัน หากรถไม่เกิดปัญหาใดๆ ระหว่างใช้งาน ก็ถือว่าคุ้มค่า
ดังนั้นอาจจะหาซื้อรถแบบใดก็ได้ ที่ขายต่อง่าย ขอให้เครื่องยนต์ดี เบรคดี ยางดีไม่มีปัญหา ใช้งานสักพักแล้วขายต่อ ก็ถือว่าคุ้มกว่าการจ้างอย่างแน่นอน
2. ต้องการรถไว้ใช้งานระยะยาว
รถกระบะมือสอง รถเก่าทุกคัน ในราคาประมาณ 50,000 จะมีรายการซ่อมใหญ่รออยู่ โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับตัวรถเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนต่างๆ มีอะไรต้องทำมากน้อยแค่ไหน หากวางแผนจะใช้กันยาวๆ สมมุติว่าซื้อมาที่ 50,000 ซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ช่วงล่าง แอร์ ระบบไฟฟ้า หมดไป 50,000 รวมเป็นเงิน 100,000 บาท แต่ได้รถที่มีความสมบูรณ์ สามารถใช้กันยาวๆ ได้อีกหลายปีก็ถือว่าคุ้ม การใช้รถกระบะต้องคิดแบบนี้ ถ้าคิดว่าซื้อมา 50,000 แล้วจบ ไม่ต้องซ่อม เข้าใจผิดแล้ว
3. ต้องการสะสม ชอบรถคลาสิก
รถกระบะหลายรุ่นเป็นรถเก่าที่สวย มีเสน่ห์ และนิยมเล่นกัน เช่น Datsan 620 หรือ Toyota RN บางคนก็ซื้อไว้เพื่อสะสม และใช้งานบ้างแต่จะเป็นรถรุ่นเก่าที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและต้อง 95 ใช้โซฮอลล์จะมีปัญหากับชิ้น ส่วนที่เป็นยาง ติดแก๊ส ก็อาจจะมีปัญหาจุกจิกตามมา ควรเป็นรถคันที่ 2 สำหรับรถกระบะในลักษณะนี้ ไม่เช่นนั้นซื้อมาแล้วก็จัดการเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นดีเซลล์แทน
ทำความรู้จักรถกระบะในงบประมาณ 50,000
ไม่ว่าจะมีจุดประสงค์เพื่อซื้อรถไว้ทำอะไรก็ตาม แต่สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องทำความรู้จักและเข้าใจรถในลักษณะนี้กันก่อน เช่น ประเภทของรถ เครื่องยนต์ การซ่อมบำรุง รุ่นยอดนิยม ราคาขายต่อ ฯลฯ
ปีผลิตรถกระบะ
ก่อนอื่นเราก็ไปทำความรู้จักปีผลิตของรถกันก่อน จะได้รู้ว่าควรเลือกรถปีประมาณไหน ถึงจะดี เพราะรถกระบะในราคาประมาณนี้ ส่วนใหญ่อายุเกิน 20 ปี เช่น รถกระบะเก่ามาก คลาสสิก รถกระบะรุ่นยอดนิยมในอดีต แต่ไม่ว่าจะเก่าเพียงใดก็ตาม หากมีการบำรุงรักษาดูแลอย่างดี รถก็จะยังคงสมบูรณ์ใช้งานได้ไม่ต่างอะไรจากรถใหม่ ใช้งานได้เหมือนกัน เพียงแต่ในเครื่องความเร็ว ความแรงเหมือนกระบะรุ่นใหญ่จะไม่สามารถทำได้
บางคนมีความเชื่อผิดๆ ว่า รถเก่า ขับไปซ่อมไป กลัวอันตราย กลัวเกิดอุบัติเหตุ นั่นก็เพราะใช้อย่างเดียวไม่ดูแล ซ่อมไม่เป็น จะเป็นรถใหม่ป้ายแดง ก็พร้อมจะเสียข้างทางได้เช่นกัน ทันทีที่คุณอยู่บนถนน อะไรก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ รถราสารพัดที่วิ่งบนถนน ไม่มีคันไหนสมบูรณ์ 100% แถมคนขับก็มีหลายประเภท ไม่สมบูรณ์ 100% เช่นกัน
1. รถกระบะเก่ามาก รถคลาสสิก
รถกระบะเหล่านี้ค่อนข้างเก่า ไม่เหมาะจะไว้ใช้งานระยะยาว แต่เหมาะสำหรับการสะสม หลายคันจัดเป็นรถคลาสสิก มีคนนิยมเล่นกัน ตัวอย่าง เช่น Datsun 620, Toyota Hero, Toyota Hero, Toyota RN, Isuzu KB รถเหล่านี้จะเป็นรถขนาดเล็ก และเครื่องยนต์เบนซิน
การใช้งานในชีวิตประจำวัน ต้องใช้ทุกวัน ต้องติดแก๊ส ซึ่งคงจะไม่ไหวแน่ เพราะจะมีหลายปัญหาตามมา หากชิ้นส่วนสำคัญมีปัญหา จะเสียเวลาซ่อม โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า ควรเป็นรถคันที่ 2 ที่สำคัญ ช่างก็ไม่ค่อยอยากซ่อม เพราะอะไหล่หายาก เสียเวลาทำงาน ได้เงินเท่ากันแต่ใช้เวลาทำงานมากกว่า
2. รถกระบะรุ่นยอดนิยมในอดีต
รถกระบะเหล่านี้เป็นรุ่นยอดนิยมในอดีต ยังสามารถหาอะไหล่ได้ ซึ่งจะมียี่ห้อและรุ่นยอดนิยมในยุคนั้น เช่น Isuzu Spark Ex 2500 di, Toyota Mighty X, Nissan Big-M, Mitsubishi L200 Cyclone รถเหล่านี้เป็นรถที่ผู้เขียนแนะนำ ซึ่งสามารถหาซื้อได้
แต่ในงบ 50,000 นั้นจะต้องซื้อเพื่อนำมาซ่อมบำรุงไว้ใช้งานระยะยาว แต่ต้องเป็นเครื่องยนต์ดีเซล
2.1 Isuzu Spark Ex 2500 di เป็นรุ่นที่ประหยัด ช่วงล่างดี แต่เสียงเครื่องดัง ราคาสูงกว่ารุ่นอื่นๆ
Toyota Mighty X เป็นรถที่ซื้อง่าย ขายคล่อง ช่างล่างนิ่มนวล แต่ช่วงล่างอันตราย ไม่เกาะถนน หากฝนตกถนนลื่น เวลาเบรคหากล้อหน้าไม่ตรงมีสิทธิหมุนกลางถนน (จากประสบการณ์ตรง)
2.2 Nissan Big-M เป็นรถที่มีความปลอดภัยสูงกว่า Toyota ช่วงล่างดี ประหยัดน้ำมันกว่า ทางประจวบคีรีขันธุ์จะใช้กันมาก หลายคันอายุเกิน 20 ปี ยังบรรทุกสับปะรดได้เกินตัน แต่รุ่นนี้ชอบผุตรงซุ้มล้อหลัง และกระบะ ซึ่งแก้ไขได้โดยใช้กระบะเสตนเลสหรือติดซุ้มล้อกันดินโคลน
2.3 Mitsubishi L200 Cyclone เป็นรถแรง ช่วงล่างดี แต่กินน้ำมันกว่า กว่ายี่ห้ออื่น
รถกระบะแยกตามขนาด
รถกระบะมีตั้งแต่ขนาดเล็กบรรทุกได้น้อย และขนาดใหญ่รองรับการบรรทุกหนัก เช่น
1. รถกระบะขนาดเล็ก
ตัวอย่างรถประเภทนี้เช่น Nissan NV, Mazda Familia เหมาะสำหรับการบรรทุกเล็กๆ น้อยๆ อย่าง Nissan NV เป็นรถเล็ก นั่งสบาย นุ่มกว่ารถกระบะใหญ่ คล่องตัว ส่วน Mazada Familia เป็นกระบะขนาดเล็กที่นิยมใช้กันมากทางภาคเหนือ ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซิน
รถกระบะทั้ง 2 รุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์เบนซิน จะค่อนข้างกินน้ำมัน โดยเฉพาะ Nissan NV
2. รถกระบะขนาดใหญ่
ตัวอย่างรถแบบนี้เช่น Toyota Mighty X, Nissan Big-M, Mitsubishi L200 Cyclone หากต้องการรถใช้งานอย่างจริงๆ จังๆ ต้องเลือกรถเหล่านี้ เพราะมีขนาดใหญ่ ตัวถังแข็งแรง เครื่องยนต์ดีเซล ทนทาน อึด ดูแลง่าย ประหยัดค่าน้ำมันอยู่ประมาณ 2.5 บาทต่อกิโลเมตรขึ้นไป
รถกระบะแยกตามชนิดเชื้อเพลิง
รถกระบะมีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน แต่ละแบบก็มีข้อดีต่างกันไป
1. รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซล
รถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ดูและง่าย ทนทาน และขายต่อง่าย คนไทยต้องการรถแบบนี้มากกว่ารถแบบอื่น หากต้องการรถเพื่อบรรทุกจริงๆ แนะนำรถแบบนี้ ซึ่งก็จะมียี่ห้อและรุ่นยอดนิยมเช่น Isuzu Spark Ex 2500 di, Toyota Mighty X, NissanBig-M, Mitsubishi L200 Cyclone นอกเหนือไปจากนี้ ไม่ควรซื้อ รถเหล่านี้จะต้องซ่อมบำรุงง่าย อะไหล่หาง่าย ขายต่อง่าย ซึ่ง 4ยี่ห้อที่ว่ามาจะขายง่าย โดยเฉพาะ Toyota, Isuzu อะไหล่ก็ยังหาง่าย
รถเหล่านี้กินน้ำมันอยู่ประมาณ 10-16 กิโลเมตร ตามแต่ยี่ห้อ รุ่นและความเร็ว น้ำมันดีเซลลิตรละ 30 บาท (มีนาคม ปี2024) รถกระบะเครื่องยนต์ดีเซลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3 บาท ต่อกิโลเมตรสำหรับการขับในเมืองรถติด และ 2 บาทกว่าๆ สำหรับการขับรถทางไกล ยาวๆ นอกเมือง แต่สบายใจกว่าเครื่องยนต์เบนซินติดแก๊ส เพราะไม่จุกจิก ดูแลง่าย ที่สำคัญขายต่อง่ายกว่ารถกระบะเครื่องยนต์เบนซินหรือเบนซินติดแก๊ส
2. รถกระบะเครื่องยนต์เบนซิน
รถเครื่องยนต์เบนซินจะค่อนข้างกินน้ำมัน และอาจจะไม่สามารถใช้งานได้ทุกวัน ต้องติดแก๊สซึ่งจะทำให้ต้องดูแลมากขึ้น และรถรุ่นเก่าเหล่านี้หากติดแก๊สมักจะมีปัญหากับระบบไฟ ตัวอย่างรถเครื่องยนต์เบนซินเช่น Mazda Family, Datsn 620, Toyota Hero, Toyota Hero, Toyota RN และ Nissan NV
รถเหล่านี้ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานหากเน้นซื้อมาเพื่อติดแก๊ส หากไม่มีความรู้และไม่มีเวลาที่จะไปหาอู่ หากไม่ติดแก๊สอาจจะสู้ค่าน้ำมันไม่ไหว ติดแก๊สแล้วก็อาจจุกจิกกวนใจ เสียบ่อย เสียเวลา ไม่ติดแก๊ส ก็กวนกระเป๋า เพราะต้องใช้เบนซิน 95 ซึ่งส่วนใหญ่จะกินน้ำมันไม่น้อยกว่า 10 กิโลลิตร แน่นอน
รถกระบะแยกตามประเภทรถ
รถกระบะเก่าเหล่านี้ยังมีอีกหลายแบบ เช่น กระบะตอนเดียว กระบะแค็ป กระบะ 4 ประตู แต่ละประเภทก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป
1. กระบะตอนเดียว
รถแบบนี้เหมาะสำหรับการบรรทุก ซึ่งก็จำเป็นต้องศึกษาจุดเด่นจุดด้วยของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งหากเน้นบรรทุกหนัก ก็จะนิยมใช้ Nissan Big M หากเน้นบรรทุกบ้าง ขนคนเป็นหลัก ก็นิยม Isuzu ช่วงล่างนิ่มกว่า เป็นต้น
2. กระบะแค็ป
กระบะแค็ปใช้บรรทุกก็ได้ และขนคนด้วยเช่นกัน คนไทยนิยมใช้รถแบบนี้ โดยเน้นการนั่งในแค็ป ซึ่งตามกฏหมายจะไม่อนุญาตในเรื่องนี้ไม่รู้ว่าอนาคตจะมีการบังคับใช้กันอีกหรือไม่ หลังจากที่ คสช ได้บังคับใช้กฏหมาย ทำให้การนั่งแค็ปหลัง นั่งกระบะท้ายผิดกฏหมาย
3. กระบะ 4 ประตู
กระบะ 4 ประตูเป็นเหมือนรถเก๋งนั่นเอง เน้นไว้บรรทุกคนและบรรทุกของได้เช่นกัน แม้จะไม่มากนักก็ตาม แต่ก็ต้องศึกษาเรื่องภาษีเพราะต้องจ่ายภาษีแพงกว่ากระบะตอนเดียวและกระบะแค็ป ประมาณเกือบ 4,000 บาท ต่อปี รวมพรบ. ภาษี และประกันภัยชั้น 3
4. กระบะแวน
กระบะแวนหรือรถครอบครัว เป็นการนำรถกระบะ 2 ประตูหรือ 4 ประตูมาดัดแปลงทำเป็นรถแวน รองรับการบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้น อย่างคันนี้ รับได้ 8 คนสบายๆ เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่ รถแวนแบบนี้ช่วงล่างจะนิ่มกว่ากระบะทั่วไป เพราะเน้นบรรทุกคนและยังหารถสภาพดีได้มากกว่ารถแบบอื่น ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับบ้านที่มีสมาชิกหลายคนเป็นครอบครัวใหญ่ เครื่องดีเซลแรงบิดดี แต่ต้องดูภาษีและขนาดเครื่องยนต์ก่อนซื้อ
การตรวจดูสภาพรถที่ต้องการซื้อ
เมื่อตกลงใจว่าจะเลือกยี่ห้อหรือรุ่นใดๆ ที่ต้องการแล้ว การนัดดูรถ จะมีสิ่งต่างๆ ที่ต้องตรวจสอบดังนี้
1. ตราจสอบเอกสารเกี่ยวกับรถ ภาษี ค่าโอนรถ ต่อภาษี ประกันภัย วันครบกำหนดเสียภาษี ส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายหลักพัน สิ่งสำคัญก็คือรถไม่ขาดต่อภาษีและสามารถโอนได้
2. ตรวจสอบยางทั้ง 4 เส้น ดูวันผลิต เอาเล็บจิกดอกยาง เพื่อดูว่ายังนิ่มหรือไม่ ดูหน้ายาง สึกเท่ากันหรือไม่ บวมหรือไม่ และดูส่วนอื่นๆเช่น โช้ค เบรค ส่วนนี้ ดูท่อไอเสีย รั่วขึ้นสนิมหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
3. ตรวจดูเครื่องยนต์ หม้อน้ำ ยางแท่นเครื่อง และอุปกณ์ในห้องเครื่องทั้งหมด ดูใต้ท้องรถมีน้ำมันหยดตรงไหนบ้างหรือไม่ ส่วนนี้มีรายการที่เกี่ยวข้องพอสมควร จึงมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 15000 รวมทั้งหมด
4. ตรวจสอบระบบเกียร์ ครัช เฟืองท้าย ก่อนซื้อต้องลองขับ เข้าเกียร์ปกติหรือไม่ เฟืองท้ายหอนหรือมีเสียงดังหรือไม่
5. ตรวจสอบระบบแอร์ แอร์เย็นหรือไม่ หากไม่เย็นมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 5000 บาทขึ้นไป
6. ตรวจสอบระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ ไดชาร์จ ไดสตาร์ท เฉพาะแบตเตอรี่ในรถเหล่านี้ต้องใช้ลูกใหญ่มีค่าใช้จ่ายรวมๆ 2500 บาทขึ้นไป
7. ตรวจสอบตัวถัง มีผุหรือไม่ โดยเฉพาะกระบะหลัง ต้องทำสีหรือไม่ หากต้องทำสีจะมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,000 ควรหารถที่ไม่ต้องทำสี ไม่ผุ อาจจะยากหน่อย บางคันแม้จะมีซีดมาก แต่หากเป็นสีเดิมๆ ไม่สวย ก็ยังดีกว่า เพราะสีเดิมจากโรงงานนั้นทนทาน ได้รถมาแล้ว อย่าจอดตากแดด ตากฝนก็ใช้งานได้อีกนาน
8. บางรุ่นอาจจะมีจุดอ่อน จุดด้วยต้องศึกษา เช่น Toyota Mighty X ช่วงล่างไม่ค่อยดี ต้องระวังเวลาเลี้ยว เบรค ถนนลื่น ท้ายอาจจะปัดและหมุนได้
หมายเหตุ
รายการดูสภาพรถดังที่ว่ามา ให้เตรียมสมุดแล้วจดบันทึกตำแหน่งหรือรายการที่ต้องซ่อม จะให้ดี ควรหาข้อมูลราคาอะไหล่แล้วจดเอาไว้เวลาดูรถก็ติ๊ก ถูกรายการที่ต้องการ จากนั้นก็จะสามารถบวกลบตัวเลขได้ทันทีว่าจะมีค่าซ่อมอะไรบ้าง
สภาพของรถกระบะและการซ่อมบำรุง
รถราคา 50,000 ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นการซื้อเพื่อซ่อมบำรุงและใช้กันยาวๆ เพราะราคานี้ไม่มีทางได้รถดี สมบูรณ์พร้อมใช้งาน หายากนอกจากเจ้าของจะร้อนเงินจริงๆ ต้องการขาย
1. รถต้องซ่อมใหญ่ทั้งคัน
รถกระบะในงบประมาณ 50,000 จะต้องซ่อมอยู่แล้ว และบางคันจะต้องซ่อมใหญ่ทั้งคัน ซื้อมา 50,000 หรือถูกกว่านั้น แต่อาจจะมีค่าซ่อมหลักแสน รถแบบนี้จึงควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะรายการซ่อมสี ตัวถังทั้งคัน ซึ่งจะมีรายจ่ายไม่น้อยกว่า 30,000 บาท ขึ้นไป นี่ยังไม่รวมรายการอื่นๆ จะมีค่าใช้จ่ายหลักแสนรออยู่แน่นอน
2. รถที่อาจจะทำเฉพาะตัวถัง ทำสี ปะผุ
บางคันอาจจะมีเครื่องยนต์ ช่วงล่าง ระบบไฟ ระบบแอร์ดี หากเน้นใช้งานแบบสมบุกสัมบัน ก็เป็นตัวเลือกที่ดี ไม่ต้องสนใจกับ ตัวถังหรือสีรถ และหากจะต้องทำสี ทั้งคัน ทั้งนี้ก็ต้องดูว่า ผุมากน้อยแค่ไหน เพราะการทำสีทั้งคันก็อาจจะไม่จบเหมือนกัน ผุในอยู่เรื่อยๆ
สิ่งสำคัญก็คือยางขอบกระจก หากไม่มีของแท้ ใช้ได้ไม่นาน มักจะแตก ปริ ทำให้น้ำสามารถซึมเข้าได้ ทำให้ส่วนนั้นๆ ขึ้นสนิมและผุอยู่อย่างนั้นนี้จะผุตำแหน่งมุมบนซ้ายและขวาของกระจกบังลมหน้าและบังลมหลัง ต้องทำสีทุกปี แต่ในงบนี้ยังสามารถหารถสภาพสีดีได้
ส่วนคันนี้ใช้หลังคาแครี่บอยซึ่งหมดสภาพแล้ว ทำสีใหม่ได้ไม่นานก็ลอกออก น้ำเข้าห้องโดยสารได้เช่นกัน ต้องเจาะให้น้ำไหลลงใต้ท้องรถสุดท้ายรำคาญ เลยขายทิ้งไปเลย รถใช้หลังคาแบบนี้ ต้องระวังจะเสียเงินเปล่า ซ่อมไม่จบ
3. รถที่ต้องซ่อมเฉพาะเครื่องยนต์ไม่ต้องทำสี
บางคันสภาพตัวถังภายในภายนอกดี ซึ่งจะประหยัดค่าทำสีหลักหมื่นบาท แต่อาจจะต้องทำเครื่องยนต์ หรือส่วนอื่นๆ ก็ถือว่าน่าสนใจเช่น บางคัน เครื่องยนต์เป็นเบนซิน การวางเครื่องใหม่เป็นดีเซล จะเป็นผลดีต่อการใช้งานระยะยาว ปัญหาจุกจึกน้อยกว่าและประหยัดกว่า ขายต่อก็ง่ายกว่า คนไทยชอบกระบะดีเซลมากกว่าเบนซิน หากเป็นเครื่องยนต์ดีเซลอยู่แล้ว อาจจะมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงไม่มาก
4. รถที่มีความสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน
รถกระบะที่มีความสมบูรณ์อาจจะเป็นคันที่เจ้าของซ่อมมาอย่างดีแล้ว แต่เจ้าของร้อนเงิน จำเป็นต้องขาย รถแบบนี้หายาก หากได้รถแบบนี้ถือว่าโชคดีมากๆ โดยเฉพาะเป็นเครื่องยนต์ดีเซลด้วยแล้ว ยิ่งคุ้มค่ามากๆ
รายการซ่อมรถกระบะราคาประมาณ 50,000
รถราคานี้ การซื้อมาใช้งานต้องซื้อในลักษณะ ซื้อเพื่อซ่อมให้สมบูรณ์ สร้างรถในแบบที่ต้องการเพื่อใช้งานยาวๆ รถราคา 50,000 แต่ส่วนใหญ่จะมีค่าซ่อมหลักหมื่นรออยู่เช่นกัน นี่คือความจริงที่ต้องรู้ ตัวยอย่างรายการซ่อมต่างๆ ที่รออยู่ เช่น
1. ยางเปลี่ยนใหม่ 4 เส้น และอื่นๆ โช้ค เบรค ลูกหมากต่างๆ เกือบหมื่น
2. ทำเครื่องยนต์ ปั๊มหัวฉีดน้ำมัน และหม้อน้ำ ไม่น้อยกว่าหมื่น
3. ทำระบบเกียร์ ครัช หากไม่มีปัญหา อาจจะถ่ายน้ำมันเกียร์ ซึ่งไม่แพง
4. ระบบแอร์
5. ระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ ไดชาร์จ ไดสตาร์ท
6. ปะผุ ทำสี
7. การโอนรถ ต่อภาษี ประกันภัย
รถในราคา 50,000 ส่วนใหญ่มีรายจ่ายรออยู่ แต่จะซ่อมอะไรบ้างนั้น ก็ตามรายการตามที่กล่าวมา และหากใช้งานระยะยาว ก็ต้องซ่อมทุกรายการที่ว่ามาทั้งหมด ในการดูรถ การเลือกรถก็ต้องดูรายการที่ซ่อมน้อยที่สุดไว้ก่อน เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ และต้องหลีกเลี่ยงรายการซ่อมใหญ่ๆ อย่าง ปะผุ ทำสี เช่น การปะผุตัวถัง ทำสี กระบะผุ ถ้าหนักขนาดนั้น ควรถอยก่อน
วิธีซ่อมรถกระบะ จะเริ่มอย่างไร
เมื่อได้รถมาแล้ว การซ่อมบำรุง มีคำแนะนำตามนี้
1. ศึกษาทำความรู้จักรถอย่างละเอียด ชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าชิ้นส่วนต่างๆ ชื่ออะไร และสำรวจราคาอะไหล่และซื้ออะไหล่เอง แล้วหาอู่ซ่อม ให้คิดเฉพาะค่าแรงเท่านั้น อย่าขับรถทื่อๆ เข้าอู่ ไม่เช่นนั้นโดยฟันหัวแบะ ทั้งบวกราคาอะไหล่ ทั้งค่าแรง เพราะอู่จะบวกเพิ่มราคาอะไหล่ไม่น้อยกว่าเท่าตัวและยังมีค่าแรงอีกต่างหาก หากซื้ออะไหล่เอง จะประหยัดเงินมากกว่า
2. การซ่อมต้องเน้นซ่อมใหญ่ ไปตามลำดับ เช่น เครื่องยนต์ ช่วงล่าง เกียร์ ระบบไฟฟ้า แอร์ เป็นต้น และควรจะทำในครั้งเดียว เพื่อจะได้รู้ว่า ทำอะไรไปบ้าง จดบันทึกไว้ด้วย ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง
2.1. ยางเปลี่ยนใหม่ 4 เส้น และอื่นๆ โช้ค เบรค เกือบหมื่น หากยางติดรถยังใช้ได้ ก็ดูเบรคโชคและช่วงล่างอื่นๆ ยางสามารถสั่งผ่านเน็ตได้ แต่ไม่ควรทำ ควรใช้บริการร้านยาง เพราะจะมีโปรโมชันสลับยางฟรี ตั้งศูนย์ถ่วงล้อ แต่ซื้อยางเอง จะถูกคิดค่าแรงล้อละ 100รวมไม่ต่ำกว่า 400 บาทต่อครั้ง ทุก 10,000 กิโลเมตรต้องสลับยาง คิดเป็นเงินก็หลักพันบาทเหมือนกัน การทำโช้ค บูชยาง ลูกหมากอาจจะใช้บริการร้านรับซ่อมโช้คและลูกหมาก หากไม่ได้ใช้บรรทุกหนัก แต่หากบรรทุกหนัก จำเป็นต้องหาของแท้ จะไม่เสียซากเพราะคุณภาพไม่ดี
2.2. ทำเครื่องยนต์ เปลี่ยนสายพาน ปะเก็น ซึล โอริง ถ่ายน้ำมันเครื่อง
2.3. ทำระบบเกียร์ ครัช เฟืองท้าย ระบบเหล่านี้ควรตรวจสอบก่อนซื้อรถ หากให้ลองขับก็จะตรวจสอบได้ง่าย
2.4. ระบบแอร์ ระบบแอร์ต้องตรวจสอบก่อนซื้อรถ ลองสตาร์ตแล้วดูว่ามีความเย็นหรือไม่ หากไม่มีแอร์ไม่ควรซื้อ และเมื่อได้รถมาแล้วให้เข้าร้านแอร์ไปตรวจสอบน้ำยาแอร์ทันที
2.5. ระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ ไดชาร์จ ไดสตาร์ท แบตเตอรี่มักจะไม่สามารถสืบประวัตได้ว่าเปลี่ยนตั้งแต่เมื่อใด ก็ใช้งานไปก่อน หากรถมีปัญหาสตาร์ตไม่ติด เพราะแบตเตอรี่หมดอายุ ก็สตาร์ตด้วยการเข็นได้
2.6. ปะผุ ทำสี ควรหลีกเลี่ยงรถที่ผุมากๆ อย่างกระบะผุทั้งคัน เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงหรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นกระบะเสตนเลสไปเลยตัดปัญหา หากจะใช้รถในระยะยาว
2.7 การซ่อมบำรุงหม้อน้ำ โดยเฉพาะการล้างหม้อน้ำต้องทำทันทีหลัง จากได้รถมาแล้ว อาจจะเปลี่ยนวาล์วน้ำ ปั๊มน้ำ ไปด้วยเลยพร้อมกับเติมน้ำยาหม้อน้ำด้วย น้ำยาสีเขียว การซ่อมส่วนนี้ให้ทำก่อนจะไปทำเครื่องยนต์ เพราะจะต้องเปลี่ยมปั๊มน้ำด้วย
2.8 การเทสปั๊มหัวฉีดน้ำมันดีเซล สำหรับรถเก่าก็ต้องทำเช่นกัน เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ตัวนี้
2.8. การโอนรถ ต่อภาษี ประกันภัย มีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็ควรทำประกันชั้น 3
การซื้ออะไหล่เอง
อะไหล่ต่างๆ ให้ซื้อเองจะสั่งที่ศูนย์รถหรืออาจจะสอบถามที่สระบุรีอะไหล่ ลองหาข้อมูลเบอร์โทรศัพท์จากเน็ต ร้านนี้มีบริการส่งของทางรถตู้ รถทัวร์ เรื่องอะไหล่ควรสอบถามก่อนจะซื้อรถ หาข้อมูลอะไหล่ก่อนซื้อรถ แต่รุ่นยอดนิยมแม้จะ 20 ปีกว่าแล้ว แต่อะไหล่ยังมีแน่นอน ที่ร้านอะไหล่อย่างสระบุรีอะไหล่
ผู้เขียนแนะนำร้านนี้เพราะสามารถสั่งมาก่อนได้ อะไรเสียก็เปลี่ยนไปตามนั้น ไม่เสียก็เอาไปคืน รับเงินเต็มจำนวน เพราะหากเปลี่ยนที่ร้าน ค่าใช้จ่ายจะแพงมาก ห่างร้านไม่ถึง 20 เมตรจะมีอู่ซ่อมรถ การซ่อมที่มีรายการต้องทำค่อนข้างมาก อาจจะใช้บริการที่ร้านนี้ก็ได้เพราะเดินไปซื้อะไหล่เองได้เลย แต่ก็แนะนำให้คุยกับทางร้านก่อน ว่ายังรับซ่อมในลักษณะนี้หรือไม่ คิดเฉพาะค่าแรง อะไหล่เราซื้อเอง
การซื้อรถใช้รถ ซ่อมรถในสไตล์ของผู้เขียนจะเน้นซ่อมเพื่อใช้ยาวๆ อย่างซื้อมา 70,000 ซ่อมไปอีก 70,000 ได้รถที่สมบูรณ์ ขับขึ้นเหนือล่องใต้ได้สบายๆ ทำทุกจุด ให้รถสมบูรณ์ใกล้เคียงรถใหม่มากที่สุด คราวนี้ก็ใช้กันยาวๆ หรือจนพังไปข้างก็ได้ รถเก่าไม่ใช่ปัญหาหากอะไหล่ยังใหม่ หรืออยู่ในสภาพดี
อย่างการซื้อรถในราคา 50,000 แม้จะมีค่าซ่อมหลักแสน แต่การใช้งานต่อไปได้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ไม่ใช่ปัญหาเลย อาจจะใช้งานได้นานกว่านั้นหากมีที่จอดดีๆ ไม่ตากแดดตากฝน และซ่อมบำรุงรักษาอย่างดี ก็ถือว่าคุ้ม เพราะในวันที่จะต้องขาย ก็จะขายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000บาทเช่นกัน หรือแพงกว่านั้น เพราะคนซื้อย่อมต้องการรถดีแม้จะราคาสูงกว่า แต่ไม่มีค่าซ่อม มีประวัติการซ่อมบำรุง
เก็บตกความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรถกระบะในงบ 50,000
เก็บตกความรู้ต่างๆ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวจากความรู้และประสบการณ์ ในการซื้อและซ่อมรถยนต์กระบะ เผื่ออาจจะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คนที่กำลังหารถแบบนี้ไว้ใช้งาน
1. รถกระบะตอนเดียวและมีแค็บ
ในงบประมาณ 50,000 บาท เราสามารถหาซื้อรถกระบะตอนเดียวและแบบมีแค็ปได้เช่น Isuzu KB หรือบางรุ่นอาจจะมีแค็บเล็กๆ อย่าง Nissan Big M, Toyota Mighty X หรือ Mitsubishi L200 บางรุ่นแค็ปกว้างกว่ารุ่นอื่น เช่น Nissan Big M ข้อดีของแค็บแม้จะเล็กมากก็ตาม แต่ก็พอจะพับเบาะ
เพื่อนอนพักระหว่างการเดินทางได้ หากมีรถคันเดียวในบ้าน และไม่ได้เน้นบรรทุกอย่างจริงๆ จังๆ มากนักรถมีแค็ปก็น่าสนใจ ใช้เก็บของได้อีกด้วย
ส่วนกระบะตอนเดียวหัวเดียวไม่มีแค็บ นั้นเหมาะสำหรับไว้ขนของอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อจะได้บรรทุกได้อย่างเต็มที่ และควรจะเป็นคันที่ 2 ในบ้าน กรณีมีครอบครัว
2. ยางและแม็ก
รถบางคันอาจจะแต่งอย่างดี ใช้แม็ก แม้จะมีความสวยงามแต่หากเน้นบรรทุก ล้อกระทะจะทนกว่า นอกจากนี้หากใช้ยางที่ใหญ่เกินไป ก็นึกถึงค่า ใช้จ่ายที่ต้องเปลี่ยนยางด้วย เพราะมีราคาสูงเช่นกัน และแม็กเฉพาะหากมีปัญหา ลงข้างทาง ชนฟุตบาท ทำให้แม็กแตก ผลเสียที่ตามมาก็คืออาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะหาแม็กลายเดิมไม่ได้ ความสวยงามมักจะมากับรายจ่าย ไม่ทนทาน
3. รถเปลี่ยนเครื่องเป็นเบนซินเครื่องขนาดใหญ่
บางคันเปลี่ยนเครื่องยนต์จากดีเซลเป็นเบนซิน แถมเครื่องขนาดใหญ่อีกต่างหาก เช่น Sr20, 1G, เครื่อง J ฯลฯ รถเหล่านี้ไม่ควรซื้ออย่างเด็ดขาดเพราะขายต่อยาก และรถเหล่านี้จะพบว่า ยังอยู่ในสภาพดี เพราะราคาตก ขายยากนั่นเอง
หากจะซื้อมาใช้งาน ก็แนะนำว่าต่อรองราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่เจ้าของจะสามารถให้ได้ เมื่อได้รถมาแล้วก็ยกเครื่องใหม่เลย วางดีเซล คราวนี้ก็ใช้งานกันยาวๆ จะคุ้มกว่า ส่วนเครื่องเก่าก็ลงประกาศขาย ต้องซ่อมแบบนี้จะคุ้มค่า เพราะรถกระบะ คนไทยจะชอบเครื่องดีเซลมากกว่า แต่ทั้งนี้อย่าลืมตรวจสอบราคาเครื่องยนต์ดีเซลให้ดีเสียก่อนของรุ่นนั้นถูกหรือแพง
4. เน้นรถที่อุปกรณ์ครบ
รถกระบะราคาประมาณนี้ อายุก็เกิน 20 ปีไปแล้วบางคันอาจจะเกิน 30 ปี ให้เลือกซื้อรุ่นที่มีอุปกรณ์ครบ โดยอุปกรณ์สำคัญควรสำรวจก่อน เพราะจะส่งผลกระทบทำให้รถมีปัญหาซ่อมไม่จบเช่น ยางขอบกระจกบังลมยังมีของแท้หรือไม่ เพราะหากไม่ใช่ของแท้จะทำให้น้ำซึมเข้าไปได้และมีโอกาสผุแล้ว ผุอีก ซ่อมไม่จบ และการมีอุปกรณ์ครบเวลาซ่อมหรือทำสีจะสบายใจไม่ต้องตามหาอะไหล่
5. รถเก่าเกินไป ควรหลีกเลี่ยง
บางคัน บางรุ่นนั่นเก่ามาก เช่น Datsan 620, Toyota RNHero, Isuzu KB หากจะต้องหารถสักคันเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่ควรยุ่งกับรถเหล่านี้ ควรจะเป็นคันที่ 2 เพราะอะไหล่เริ่มหายากแล้ว เวลาเสียหากเป็นอะไหล่สำคัญจะทำให้เสียเวลาและไม่มีรถใช้
6. เน้นรถกระบะรุ่นยอดนิยม และเครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น
หากมีรถคันเดียวในบ้าน ให้เน้นรุ่นยอดนิยมเท่านั้นเช่น Toyota Mighty X, Isuzu Spark Ex, Nissan Big-M เพราะรถเหล่านี้มียอดขายมาก อะไหล่ยังหาได้ไม่ยาก ยิ่งเครื่องยนต์ดีเซลด้วยแล้ว จะเป็นรถที่ซื้อง่ายขายคล่อง เก็บไว้ไม่ขาดทุน ซื้อตอนนี้ 50,000 หากสามารถดูและรักษาให้มีสภาพเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิม ในอนาคต ก็สามารถขายได้ที่ราคาไม่น้อยกว่า 50,000 บาท ไม่มีขาดทุน
7. รถต้องทำสี ปะผุ กระบะผุควรหลีกเลี่ยง
รถกระบะที่เก่ามาก ตัวถังแย่เต็มทน ต้องปะผุ ทำสี กระบะก็ผุต้องเปลี่ยน ทั้งหมดนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป หากมีชิ้นส่วนที่ผุมากอาจจะเกิน 40,000 บาท ดังนั้นจึงไม่ควรยุ่งกับรถที่มีลักษณะดังนี้ นอกเสียจากว่าจะมีชิ้นส่วนอื่นที่ดีจริงๆ เช่น เครื่องยนต์ ช่วงล่าง แอร์ ระบบไฟฟ้า ฯลฯ แต่แย่ที่ตัวถัง แบบนี้ก็น่าสนใจ คุ้มค่าที่จะลงทุนซ่อม
8. รถยี่ห้อไม่นิยม
รถกระบะยี่ห้อไม่นิยม ราคาจะถูกกว่ารุ่นยอดนิยม เมื่อซื้อมาแล้ว ก็ต้องรู้ว่าจะมีปัญหาอะไรตามมาบ้าง เช่น ช่างหรืออู่ที่รับซ่อม จะไม่ค่อยชอบ และอาจจะต้องหาอู่เฉพาะ เพราะรถไม่นิยม เสียเวลาหาอะไหล่ เวลาขายต่อก็ยาก เพราะคนไม่นิยม รถแบบนี้ควรซื้อแล้วก็ดัดแปลงให้ดีที่สุดไปเลย รถเหล่านี้มักจะมีราคาไม่แพง เช่น 30,000 บาท ก็วางแผนเปลี่ยนเครื่องข้ามสายพันธ์ ไปเลย เพื่อใช้ยาวๆหากเป็นรถดีเซลจะไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะระบบไม่ซับซ้อน
การใช้งาน การดูแล ซ่อมบำรุงรถ
เมื่อได้รถมาไว้ใช้งานแล้ว นี่คือคำแนะนำในการดูแล การใช้งาน และซ่อมบำรุง
1. หาที่จอด ทำที่จอดบังแดด บังฝน พยายามรักษาให้อยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด เวลาขายต่อจะง่ายกว่า
2. ซ่อมบำรุงตามปกติ แต่ไม่ควรตกแต่งให้ผิดจากมาตรฐาน เวลาเกิดปัญหาซ่อมยาก เสียเวลาทำมาหากิน เน้นเดิมๆ มาตรฐาน
3. จดบันทึกประวัติการซ่อมบำรุง นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการดูแลรถแล้ว เวลาขายต่อ รถมีประวัติขายง่าย และเล่นตัวได้
4. ซ่อมให้สมบูรณ์ที่สุด และใช้งานยาวๆ เกิน 5 ปี ยิ่งใช้นานมาก ก็จะยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้น เช่น ซื้อมา 50,000 ทำไปอย่างดี 100,000