ก่อนซื้อรถเงินผ่อนจำเป็นต้องศึกษาวิธีการคำนวณเงินผ่อนและรายจ่ายต่างๆ ที่จะตามมาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะการผ่อนรถเป็นหนี้ผูกพันระยะยาว เป็นจำนวนเงินค่อนข้างมาก ถ้าคำนวณรายจ่ายผิดพลาด ก็จะทำให้เกิดปัญหาการเงินในอนาคตได้ทันที โดยเฉพาะรถยนต์มือสอง แม้จะมีราคาถูกลง แต่ค่าใช้จ่าย ค่าอะไหล่ ค่าน้ำมัน ประกันภัย ภาษี พ.ร.บ. ฯลฯ ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย
ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างสมมุติการผ่อนรถมือสองสักคัน และคำนวณราย จ่ายที่จะตามมาอย่างละเอียดว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งคนไม่เคยมีรถมาก่อนจะคาดไม่ถึง คิดไม่ออกอย่างแน่นอน
ตัวอย่างการผ่อนรถมือสอง Honda Jazz
ตัวอย่างการคำนวณดอกเบี้ยผ่อนรถยนต์ Honda Jazz
Honda JAZZ 1.5 i-VTEC ปี 2009 ราคา 385,000
1. รถราคา 380,000 บาท (ขอตัวเลขกลมๆ ก็แล้วกัน ในภาพราคา 385,000 ดูเป็นแนวทางครับ ข้อมูลเกี่ยวกับราคารถยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เข้าไปดูได้ที่ taladrod.com)
2. ดาวน์ 25% 380,000 x 25% =95,000
3. ยอดจัดไฟแนนซ์หรือยอดที่ต้องกู้ 285,000
4. ดอกเบี้ย 3.0% ( ในความเป็นจริงแล้วดอกเบี้ยรถมือสองจะแพงกว่านี้ )
5. ระยะเวลาผ่อน 6 ปี หรือ 72 เดือน
วิธีการคำนวณค่างวดเงินผ่อนรถมือสอง
1. คำนวณอัตราดอกเบี้ยต่อปี = 8,550 ยอดจัดไฟแนนซ์ 285,000 x 3% = 8,550 บาท
2. รวมดอกเบี้ยทั้งหมดที่ผ่อน 6 ปี = 51,300 ดอกเบี้ยต่อปีคูณกับ 6 8,550 x 6 = 51,300 บาท
3. รวมยอดจัดและดอกเบี้ย 285,000+51,300 = 336,300 บาท
4. นำยอดทั้งหมดมาคิดภาษี VAT 7% 336,300 x 7% = 23,541 บาท
5. รวมยอดจัด ดอกเบี้ยและภาษี VAT 7% 285,000 + 51,300 + 23,541 = 359841
6. คำนวณค่าผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 4,997 บาท 359,841 หาร 72 เดือน = 4,997.79 หรือ 4,997
7. จากยอดจัด 285,000 ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยและภาษีคิดเป็นเงิน 74,841 บาท ในระยะเวลา 6 ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด
359,841 - 285,000 = 74,841 บาท
รวมเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายไปกับการผ่อนรถคันนี้ เงินดาวน์ 25% + ค่างวด 95,000 + 359841 = 454,841 บาท
การผ่อนรถจะมีเรื่องตัวเลข เรื่องจำนวนเงินเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก จำเป็นต้องทำความเข้าใจ อย่างละเอียดและรอบคอบ เพราะถ้าพลาดเจ็บต้วแน่นอน เพราะรายจ่ายไม่ได้มีแค่นี้
คำนวณรายจ่ายทั้งหมดสำหรับการผ่อนรถยนต์
รายจ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับรถยนต์ผู้เขียนจะแบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
A. รายจ่ายประจำวันหรือประจำเดือน
B. รายจ่ายประจำปี
C. รายจ่ายการใช้งานรถยนต์ตามระยะทาง
D. รายจ่ายที่ไม่คาดคิด ไม่อาจคาดเดาได้
A. รายจ่ายประจำวันหรือประจำเดือน
รายจ่ายส่วนนี้จะเป็นรายจ่ายในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ หรือแต่ละเดือน เช่น
1. ในแต่ละเดือนจะมีค่าผ่อนรถ 72 งวด/เดือนๆ ละ 4,997 บาท
2. ค่าน้ำมัน เท่าไหร่นั้นก็คำนวณตามระยะทางที่ขับรถไปทำงาน สมมุติว่า วันละ 100 บาท การใช้งานรถยนต์ 6 ปีจะมีค่าน้ำมัน (365วัน x 6 ปี = 2190 วัน) 2190 x 100 = 219,000 บาท
3. ค่าจอดรถที่ทำงานหรือที่พัก = ?
4. ค่าทางด่วน = ?
5. ค่าล้างรถ = ?
รวมรายจ่ายประจำวันหรือประจำเดือนทั้งหมดภายใน 6 ปี (เท่าที่คำนวณได้) 219,000
B. รายจ่ายประจำปี
1. ค่าประกันภัยประเภท 1 เกิน 15,000 บาท รวม 6 ปี สมมุติว่าปีละ 15,000 x 6 = 90,000 บาท
2. การต่อภาษี และพรบ. สมมุติว่า ปีละ 1500 รวม 6 ปี 1,500 x 6 = 9,000 บาท
รวมรายจ่ายประจำปีทั้งหมด 90,000 + 9000 = 99,000 บาท
C. รายจ่ายการใช้งานรถยนต์ตามระยะทาง
ในระยะเวลา 6 ปีนั้นสมมุติว่าใช้รถไปประมาณ 120,000 กิโลเมตร หรือขับวันละประมาณ 54 กิโลเมตร โดยสมมุติว่า รถกินน้ำมันประมาณ 15 กิโลเมตรต่อเลิตร การคำนวณส่วนนี้ ต้องคำนวณจริง ซึ่งจะมากกว่านี้
คำนวณระยะทางการใช้รถ
1. ระยะเวลา 6 ปี คิดเป็นวันจะได้ทั้งหมด 365 วัน x 6 ปี = 2190 วัน
2. ใช้รถเป็นระยะทาง 120,000 ใน 6 ปี คิดเป็น 120,000 กิโลเมตร หาร จำนวนวันทั้งหมด 2190 = 54 กิโลเมตรโดยประมาณ
คำนวณค่าใช้จ่ายตามระยะทาง
ในการคิดค่าซ่อมบำรุงรักษารถจะคิดตามระยะทาง จากตัวอย่างจะเป็นรายรายจ่ายของรถ Honda Jazz ปี 2008 ศึกษาข้อมูล
ได้จากเว็บไซต์ของ honda ประเทศไทย
1. เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนทุก 10,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 972.4/1029.6 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน12,012 บาท
2. แหวนรองน็อตถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนทุก 10,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 15 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 180 บาท
3. กรองน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนทุก 20,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 224 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 1,344 บาท
4. ไส้กรองอากาศแอร์ เปลี่ยนทุก 20,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 671 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 4,026 บาท
5. ใส้กรองอากาศ เปลี่ยนทุก 30,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 255 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 900 บาท
6. ตั้งวาล์ว ประมาณ 40,000 กิโลเมตร ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. ประมาณ 400 บาทขึ้นไป คิดเป็นเงิน 1,200 บาท*
7. น้ำมันเบรก เปลี่ยนทุก 60,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 260 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 520 บาท
8. น้ำมันเกียร์ธรรมดา เปลี่ยนทุก 60,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 292 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 584 บาท
9. แหวนถ่ายน้ำมันเกียร์ เปลี่ยนทุก 60,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 15 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 30 บาท
10. ยางทั้ง 4 เส้น เปลี่ยนทุก 60,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน20,000 บาท
11. แหวนล็อกท่อน้ำมันเบนซิน เปลี่ยนทุก 80,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 38 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 38บาท
12. กรองน้ำมันเชื้อเพลิง เปลี่ยนทุก 80,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 1180 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 1,180บาท
15. หัวเทียน เปลี่ยนทุก 100,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 2244 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 2,244 บาท
16. สายพานหน้าเครื่อง เปลี่ยนทุก 100,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายประมาณ 1500 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน1,500 บาท
17. น้ำยาหม้อน้ำ เปลี่ยนทุก 200,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 165 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 0บาท
18. น็อตถ่ายน้ำยาหม้อน้ำ เปลี่ยนทุก 200,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่าย 35 บาท ระยะทางใช้งาน 120,000 กม. คิดเป็นเงิน 0 บาท
รวมรายจ่ายทั้งหมดสำหรับการดูแลซ่อมบำรุงตามระยะทาง 120,000 กิโลเมตร
12,012 + 180 + 1,344 + 4,026 + 900 + 1,200 + 30 + 20,000 + 38 + 1,180 + 2,244 + 1,500 = 44,654
* รายจ่ายโดยประมาณ แต่รายจ่ายจริงไม่น้อยกว่านั้น
D. รายจ่ายที่ไม่คาดคิด ไม่อาจคาดเดาได้
รายจ่ายต่างๆ ต่อไปนี้ เป็นรายจ่ายที่อยู่เหนือการคาดเดา แต่มีเหตุให้ต้องใช้จ่าย จะไม่สามารถคำนวณจริงได้ ตราบที่ยังไม่ได้ใช้รถเพราะรายจ่ายที่กล่าวไปแล้วเป็นการใช้งานสำหรับการเดินทางไปทำงานเท่านั้น ยังไม่รวมการเดิน ทางไปทำธุระส่วนตัว ท่องเที่ยว ไปเดินห้าง ไปจ่ายตลาด ฯลฯ
1. ปาร์ตี้ สังสรรค์กับเพื่อนๆ รายจ่ายจะมีค่าน้ำมันในการเดินทาง และค่าอาหาร = ?
2. การขับรถไปทำธุระ ออกนอกเส้นทาง มีรายจ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหาร = ?
3. อุบัติเหตุ เสียค่าซ่อมเอง กรณีอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ รายจ่ายจะมีค่าซ่อมรถ รักษาพยาบาล = ?
4. ของแต่งรถ = ?
3. ไปเที่ยวต่างจังหวัด มีรายจ่ายทั้งค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าที่พัก = ?
ฯลฯ
รวมรายจ่ายที่ไม่คาดคิด * ยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่มีมากแน่นอน คนโสดจะน้อยหน่อย แต่คนมีครอบครัวจะมีรายจ่ายอย่างมาก
สรุปรายจ่ายทั้งหมดจากการผ่อนรถและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมา
1. รวมเงินทั้งหมดที่ต้องจ่ายไปกับการผ่อนรถคันนี้ เงินดาวน์ 25% + ค่างวด 95,000 + 359841 = 454,841 บาท
2. รวมรายจ่ายประจำวันหรือประจำเดือนทั้งหมด (เท่าที่คำนวณได้) 219,000 ค่าน้ำมันยังคำนวณไม่ละเอียด ซึ่งจะต้องมากกว่านี้
3. รวมรายจ่ายประจำปีทั้งหมด 90,000 + 9000 = 99,000 บาท
4. รวมรายจ่ายการดูแลซ่อมบำรุงตามระยะทาง 12,012 + 180 + 1,344 + 4,026 + 900 + 1,200 + 30 + 20,000 + 38 +1,180 + 2,244 + 1,500 = 44,654
5. รวมรายจ่ายที่ไม่คาดคิด * ยังไม่สามารถคาดเดาได้
รวมรายจ่ายทั้งหมดขั้นต่ำ 454,841 + 219,000 + 99,000 + 44,654 = 862,149 บาท
* ยังเหลือรายจ่ายค่าน้ำมันและรายจ่ายในข้อที่ 5 รวมรายจ่ายที่ไม่คาด คิด * ยังไม่สามารถคาดเดาได้
บทสรุป
การมีรถยนต์ 1 คันจะพบว่ามีรายจ่ายเกิดขึ้นตามมามากมายจริงๆ นี่ยังไม่รวมรายจ่ายที่ไม่คาดคิด เพราะยังไม่มีรถจริงๆ แต่รายจ่ายส่วนนี้จะเยอะมาก เพราะจะมีเหตุให้ต้องเดินทาง ออกนอกเส้นทาง ขับรถเที่ยว ไปห้าง พาครอบครัวไปทำธุระ จะมีค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าที่พัก ระยะทางจริงๆ ก็จะมากกว่า 120,000 กิโลเมตร ตามที่ได้ยกตัวอย่าง ดังนั้น รายจ่ายจริงๆ 1,000,000 บาท ก็เอาไม่อยู่แน่นอน นี่คือรายจ่ายจริงกับการผ่อนรถยนต์ 1 คัน
แต่บางคน อาจจะน้อยกว่านี้ หากซื้อมาจอด ก็จะประหยัดค่าน้ำมัน และการซ่อมบำรุงตามระยะทาง การคำนวณตรงนี้ก็ไม่ยากเพราะค่าน้ำมันนั้น การเดินทางไปกลับที่ทำงานเป็นระยะทางกี่กิโลเมตรก็คำนวณไม่ยาก จากนั้นก็เอาไปคำนวณหาอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันอีกที
เมื่อคำนวณอย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าไม่ได้มีรายจ่ายเฉพาะค่าผ่อนรถเดือนละ 4997 บาทต่อเดือนอย่างที่คิดแล้วนะครับ ในระยะเวลา6 ปี หรือ 72 งวดหรือ 72 เดือน ก็จะมีรายจ่ายจริงๆ ไม่น้อยกว่า 11,974 บาท
รายจ่ายรวมทั้งหมด 862,149 หาร 72 = 11,974 บาท
หลายคนอาจจะคิดว่า เงินเดือน 20,000 ผ่อนได้สบาย ก็แย่เหมือนกัน เพราะรายจ่ายที่ว่ามานั้น เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับรถยนต์อย่างเดียว แต่ยังไม่รวมรายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของรถตัวอย่าง เช่น
1. ค่าที่พัก หอพัก สมมุติว่า เดือนละ 2500 บาท
2. ค่าชั่วโมงเน็ตและโทรศัพท์ สมมุติว่าเดือนละ 1000 บาท
3. ค่าอาหาร สมมุติว่า เดือนละ 4500 บาท กินอยู่อย่างประหยัดมาก ข้าวจานละ 50 บาท เดือนไหนมี 31 วัน ก็อดนะ
4. ค่าใช้จ่ายส่วนตัวของใช้ สบู่ แปรง ของสิ้นเปลือง ฯลฯ สมมุติว่าเดือนละ 500
5. รายจ่ายอื่นๆ เช่น ปาร์ตี้ เที่ยวต่างจังหวัด ให้เงินพ่อแม่ พี่น้อง ฯลฯ
รวมรายจ่ายส่วนตัวทั้งหมดของเจ้าของรถ 2,500 + 1,000 + 4,500+ 500 = 8,500 บาท
รวมค่าใช้จ่ายของรถและเจ้าของรถ 11,974 + 8,500 = 20,474 บาท
สรุปว่าเดินเดือน 20,000 ผ่อนรถเดือนละ 4,997 บาท ไม่รอด ติดลบ ถ้าใช้รถเกินวันละ 54 กิโลเมตร หรือรถเสียต้องซ่อม ยังนึกไม่ออกเลยว่า จะเอาเงินจากไหนมาซ่อมรถ หากเป็นคนตัวคนเดียวด้วยแล้ว ก็อย่าผ่อนเลย
ผู้เขียนเคยผ่อนรถป้ายแดง 6 แสนกว่าบาท ซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องรายจ่ายต่างๆ ที่ตามมาอย่างลึกซึ้งมากนัก อยากได้รถใหม่จนขาดสติ สุดท้ายก็ผ่อนไม่รอด ต้องขายทั้งที่ติดไฟแนนซ์ แต่ก็ยังไม่เข็ด ไปดาวน์รถมือสองอีกรอบ ผ่อนไม่รอดเหมือนเดิม 2 คร้้งติดกัน คราวนี้คิดเป็น และเข็ดขยาดไปเลย
แต่ตอนนี้เข้าใจอย่างดีแล้ว ไม่เอาแล้ว เข็ดแล้วกับการผ่อนรถ ก็หวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับมือใหม่ทั้งหลายที่อยากจะมีรถขับ จะได้รู้จักวิธีคำนวณรายจ่ายแบบละเอียดรอบคอบที่สุด กันพลาด เพราะการเป็นหนี้ผูกพัน ยอดเงินหลักแสนแบบนี้ เครียดมากทุกข์ใจมาก แล้วก็ไม่มีใครช่วยอะไรได้ เพราะทำตัวเอง
โดยเฉพาะคนที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้ หรือไม่น่าจะมีใครช่วยเหลือเรื่องการเงิน ก็อย่าได้เสี่ยง พาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ทุกวันนี้มีรถเก่ามือสองมากมาย ราคาหลักหมื่นบาท ลองหามาใช้ก่อน จะได้รู้ว่า เมื่อมีรถยนต์แล้ว รายจ่ายจริงๆ มากน้อยแค่ไหน และไม่ว่าจะซื้อเงินผ่อน หรือ ซื้อสด จะต้องเลือกรถเครื่องยนต์เล็ก ประหยัดน้ำมัน ยี่ห้อยอดนิยมไว้ก่อน ปัญหาจะน้อยกว่า ผ่อนไม่ไหว ขายต่อก็ไม่ยาก