สำหรับใครที่มีคนสูงวัยใกล้ตัว วิทยุ AM/FM นั้นมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะคนรุ่นนี้จะคุ้นเคยกับวิทยุเหล่านี้ ดีกว่าการดูวิดีโอยูทูป เพราะเป็นการจัดรายการสด มีดีเจ สามารถโทรไปขอเพลง พูดคุยได้ มีทั้งสาระ น่ารู้ ธรรมะ ช่วยคลายเหงาได้ แต่วิทยุเหล่านี้ก็มีคุณสมบัติหลายอย่างที่ควรรู้ ก่อนจะซื้อหาไปให้คนแก่ใกล้ตัว โดยเฉพาะรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปแล้ว ได้ไว้ใช้งาน

 

ประโยชน์ของวิทยุ AM/FM สำหรับคนสูงวัย

คนสูงวัยในที่นี้ก็จะเป็นคนยุคเก่าที่คุ้นเคยกับการใช้วิทยุ AM/FM ซึ่งก็น่าจะเป็นคนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัด คนเหล่านี้บางคนไม่เคยใช้มือถือสมาร์ทหรือแท็บเล็ตรุ่นใหม่ ไม่ชอบการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้จะมีสื่อ มีวิดีโอ มากมายให้เลือกชม แต่ก็ยังชอบของเก่าที่มีความคลาสสิก ใช้แล้วก็พาให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ อดีตเก่าๆ ในยุคของตนเอง ทำให้รู้สึกมีความสุขเมื่อได้ใช้งานมากกว่าการใช้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่

 

วิทยุ AM/FM ความนิยมอาจจะน้อยลง ในยุคนี้ แต่หากมีคนสูงวัยใกล้ตัว สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ไม่น้อยเลย แต่ก่อนจะซื้อหามาใช้ ก็ควรศึกษาถึงคุณสมบัติในด้านต่างๆ เช่น

ยี่ห้อที่ไว้ใจได้

ในเมืองไทยเราเคยมีหลายยี่ห้อที่มีความทนทาน ใช้งานได้ดี ผ่านการยอมรับจากคนไทย เช่น ธานินทร์ แหลมทอง ไฮสตาร์ แต่ปัจจุบันของเลียนแบบก็มาก จึงต้องศึกษาหาข้อมูลพอสมควร

 

ทำความเข้าใจกับชิ้นส่วนที่มักจะเสียบ่อย

วิทยุเหล่านี้จะต้องรู้ว่าชิ้นส่วนใด มักจะเสียก่อนตัวอื่น และมีวิธีซ่อมเบื้องต้นด้วยตัวเองอย่างไร ซึ่งมักจะเป็นโวลุม (VOLUME) ควบคุมการเปิดเครื่อง การลดเสียง เพิ่มเสียง ตัวหมุนหาสถานี (TUNNING) ซึ่งเป็นตัวที่ใช้บ่อยๆ จึงมีโอกาสเสียเร็วกว่าชิ้นส่วนอื่น ก็ลองทำความสะอาดเองได้ง่าย ด้วยการถอดออกมาแล้วล้างด้วย น้ำมันรอนสัน

 

แหล่งพลังงาน ถ่าน ถ่านชาร์จได้ ไฟบ้าน

วิทยุเหล่านี้จะใช้ถ่านเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งถ่านมีหลายแบบ เช่น
1. ถ่านทั่วไป หรือ ถ่านไฟฉาย เป็นวัสดุสิ้นเปลือง ใช้ได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของถ่าน ควรเขียนวันที่เอาไว้ด้วย เพื่อให้รู้ว่า มีอายุการใช้งานนานกี่วัน กี่เดือน ถ่านบางประเภทราคาแพง เปลี่ยน 3 รอบ ราคารวมก็พอๆ กับราคาวิทยุ หรือแพงกว่า


2. ถ่านชาร์จได้ วิทยุ AM/FM รุ่นใหม่อาจจะใช้ถ่านแบบนี้ เป็นถ่าน 18650


3. วิทยุมีหม้อแปลงใช้กับไฟบ้านได้ เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยประหยัดเงินไม่ต้องซื้อถ่าน แต่วิทยุ AM/FM บางรุ่น หากต้องการต่อกับไฟบ้านจะต้องถอดถ่านออก จึงจะเปิดเครื่องได้ และก็ไม่ควรเปิดใช้งานต่อเนื่องนานๆ จะทำให้หม้อแปลงร้อน และพังได้ นอกจากนี้อีกปัญหาที่พบก็คือ ปลั๊กไฟบางจุด ใช้กับวิทยุแบบนี้แล้ว มีเสียงซ่า หาสถานียาก เหมือนมีบางอย่างรบกวน
- อย่างรุ่นนี้เสียบผ่านปลั๊กไฟบางจุดในบ้าน แล้วเสียงซ่า หาคลื่นยาก
- แต่ในบ้านหลังเดียวกันนี้ ไปเสียบกับปลั๊กไฟตำแหน่งอื่น กลับใช้งานได้ตามปกติ เสียงดังฟังชัด หาสถานีได้มากกว่า

 

วิทยุทรงโบราณ

การเลือกวิทยุให้คนสูงวัยใช้ ต้องศึกษาถึงยุคที่คนเหล่านั้นใช้งาน เพราะหลายคนไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ จะปฏิเสธทันที ปกติจะเป็นวิทยุแนววินเทจ หมุนปรับหาคลื่น หรือ หมุนปรับเสียง ไม่ใช่แบบปุ่มกด หรือ หน้าจอสัมผัส การได้หมุน ก็ได้ขยับนิ้ว ขยับแขน ด้วยเช่นกัน

 

วิทยุ AM/FM ขนาดเล็ก

วิทยุขนาดเล็กจะมีข้อดีในเรื่องการพกพา และถ่านที่ใช้มักจะใช้แค่ 2 ก้อน แต่ก็มีบางรุ่นที่สามารถใช้ไฟบ้านได้
1. วิทยุขนาดเล็ก พกพาง่าย ใช้ถ่านไม่เกิน 2 ก้อน บางรุ่นต้องศึกษาถึงความสามารถในการรับคลื่นว่าทำได้ดีแค่ไหน และความทนทานของตัวหมุนหาคลื่น และโวลุมปรับเสียง อาจจะเสียเร็ว ถ้าเสียเมื่อไรก็หมดสิทธิ์ซ่อม หาอะไหล่ยาก
2. วิทยุขนาดเล็กบางรุ่น มีทางเลือกในเรื่องแหล่งพลังงานสามารถใช้กับไฟบ้านได้ เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

วิทยุที่ใช้งานกับหน่วยความจำได้

วิทยุ AM/FM รุ่นใหม่ รองรับแฟลชไดรฟ์ เมมโมรีการ์ด เป็นอีกตัวเลือกที่ดี เพราะสามารถก็อปปี้ธรรมะ ข้อคิด บทสวดมนต์ไว้ฟังได้ด้วย แต่ก็ต้องดูว่า คนสูงวัยใกล้ตัว ชอบแนวนี้หรือไม่ แต่หากไม่ลำบากเรื่องงบประมาณ เลือกเอาไว้ก่อนดีที่สุด เพราะหากไม่พังเสียก่อน คนอื่นก็ยังใช้งานต่อไป เน้นรุ่นที่รองรับบลูทูธ เอาไว้ส่งเพลงจากมือถือ หรือฟังเพลงในยูทูป ก็ส่งไปเปิดผ่านลำโพงของวิทยุ เสียงดังกว่า ประหยัดแบตเตอรี่มือถือ ดีกว่าลำโพงบลูทูธ เพราะฟังวิทยุได้ด้วย

 

เลือกให้เหมาะกับผู้รับ

การตัดสินใจเลือกซื้อวิทยุแบบนี้ควรเลือกให้เหมาะสมกับอายุ วัย ยุค ของผู้รับ อาจจะสอบถามประสบการณ์ในการใช้งาน หรือ ดูสไลด์การฟังเพลง เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อ อย่าเอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่เช่นนั้น ซื้อมาแล้ว ผู้รับ อาจจะไม่ยอมใช้งาน เพราะมีคุณสมบัติบางอย่างที่ตัวเองไม่ชิน ไม่คุ้นเคย เช่น หน้าจอสัมผัส หรือ ปุ่มกด แทนที่จะเป็นแบบวิทยุโบราณ หมุนปรับหาคลื่น หมุนปรับเสียง

 

การได้วิทยุที่มีความวินเทจ คลาสสิกมากเท่าไร ผู้เขียนก็เชื่อว่า จะช่วยให้ผู้รับ โดยเฉพาะคนสูงวัยมีความสุขในการใช้งานมากยิ่งขึ้น ได้ฟังเพลงเก่าๆ ทำให้นึกถึงบรรยากาศ อดีตเก่าๆ แต่ละยุคสมัยของแต่ละคน ก็ควรจะเลือกของใช้ให้เข้ากับยุคของตัวเอง จึงจะทำให้มีความสุขในการใช้งาน และอยากจะใช้

 

การใช้งานและการดูแลวิทยุ AM/FM

นอกจากคุณสมบัติที่จะต้องรู้เพื่อจะได้เลือกซื้อให้ตรงกับความต้องการของผู้สูงวัยใกล้ตัวแล้ว ก็ต้องศึกษาวิธีการใช้งานและการดูแลให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่พังง่ายๆ ตัวอย่างเช่น
1. ระดับเสียง อย่าเปิดดังเกินไป ไม่เพียงอาจจะทำให้ลำโพงแตก แต่จะเปลืองถ่าน ถ่านหมดเร็ว
2. อย่าปรับเสียงบ่อย จะทำให้อายุใช้งานโวลุมน้อยลง ชิ้นส่วนนี้มักจะไปเร็วกว่าตัวอื่น
3. วิทยุที่ใช้ไฟบ้านได้ ก็อย่าใช้ต่อเนื่องนานเกินไป ความร้อนสะสมจะทำให้หม้อแปลงพังได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องตั้งวางในตำแหน่งที่อากาศถ่ายเทได้ดี หรือไม่ก็ต้องมีพัดลมช่วยระบายอากาศ
4. เสาอากาศหมั่นเช็ดทำความสะอาด ป้องกันขึ้นสนิม รวมทั้งขั้วแบตเตอรี่ด้วยเช่นกัน อย่าปล่อยให้สกปรก ไม่ใช้งานนานๆ ก็ถอดถ่านออก
5. ระวังอย่าวางเครื่องไว้ในจุดที่มีความชื้นสูง จะส่งผลต่อชิ้นส่วนภายใน ซึ่งอุปกรณ์อีเล็คทรอนิคมักจะไม่กลัวความชื้นและฝุ่น

 

Sponsored Ads